TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

Social Detox และ JOMO วัคซีนที่ต้องมีในโลกออนไลน์

Digital Citizen Documents
  • 02 พ.ค. 64
  • 3335

Social Detox และ JOMO วัคซีนที่ต้องมีในโลกออนไลน์

จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (Thailand Internet User Behavior) ในปี 2563 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สะท้อนว่า คนไทยมีสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตในปี 2563 เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที) โดยมีคนไทยมากถึง 95.3 % (จาก 91.2% ในปี 2562) ที่ใช้งานเพื่อการเล่นสื่อสังคมออนไลน์ (Social media หรือโซเชียลมีเดีย) 

อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตติดหน้าจอมากเกินไป โดยไม่จัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม อาจเป็นการบั่นทอนทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ 

OnlineVaccine02.pngอาการของโรค

เว็บไซต์ของ Business Insider ได้ชี้ข้อเสียของการใช้งานสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ตเอาไว้หลายข้อที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย เช่น การปล่อยแสงสีฟ้าและการดึงดูดให้ใช้งานจนทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวที่เกิดจากการติดสมาร์ตโฟน การแจ้งเตือนของข้อความที่ทำให้ต้องตื่นตัวในการสื่อสารตลอด[1] และการใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยที่สามารถพัฒนาไปเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อจากอาการอักเสบและเยื่อพังผืด (หรือที่นิยมเรียกว่า Office Syndrome) อาการปวดตาแสบตาจากการจ้องแสงนานเกินไป หรือมีอาการนิ้วล็อกอีกด้วย

นอกจากนี้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการใช้งานโซเชียลมีเดียยังทำให้เกิดอาการทางใจด้วย เช่น เมื่อว่างเราจะหยิบมือถือขึ้นมาดู การวัดคุณค่าตนเองด้วยความนิยมบนสื่อออนไลน์ อาการกลัวที่จะไม่ได้รับรู้เรื่องราวหรือพลาดข่าวสาร (Fear Of Missing Out หรือ FOMO) และการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นตลอดเวลา ทำให้มีคนไทยไม่น้อยที่ร่างกายสะสมความอ่อนล้าและความเครียดเอาไว้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

สาเหตุของโรค

ปัจจุบันมีการวิจัยสาเหตุของการเสพติดโซเชียลมีเดียเอาไว้ว่าน่าจะเกิดจากสารเคมีในประสาทของเราที่ชื่อว่า โดพามีน (Dopamine) ทำหน้าที่บอกสมองว่าพฤติกรรมที่เราทำอยู่ควรทำซ้ำเพราะเป็นผลดี เช่น การกินเพราะจะทำให้เรามีสารอาหาร หรือการสืบพันธุ์เพื่อให้เรามีลูกเพื่อสืบต่อพันธุกรรม แต่เมื่อเราใช้โซเชียลมีเดียและเจอกับข้อมูลใหม่หรือสิ่งที่น่าสนใจ สารโดพามีนนี้ก็หลั่งออกมา ทำให้เราเกิดความรู้สึกดีเวลาใช้งานด้วย นั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากใช้งานต่อ[2] เวลาว่างก็เผลอหยิบมือถือขึ้นมาดู หรือรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ยอดไลก์ (Like) เพิ่ม แต่การเสพติดนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกแย่ได้เช่นกัน จากการได้ยอดไลก์ไม่เท่ากับที่คาดหวัง การที่โพสต์ของเราไม่ได้รับความสนใจ ไปจนถึงการเห็นคนอื่นดูมีชีวิตที่ดีกว่าหรือประสบความสำเร็จมากกว่าเรา
OnlineVaccine01.png

เริ่มฉีดวัคซีนรักษา

แนวคิดการทำโซเชียลดีท็อกซ์ (Social Detox) จึงเกิดขึ้น โดยมีที่มาจากการทำดีท็อกซ์ (Detox) ที่เป็นการเอาสารพิษออกจากร่างกาย แต่วิธีนี้คือการชำระเอาสารพิษที่เกิดจากสื่อสังคมออนไลน์หรือการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารมากเกินไปออกจากร่างกายและจิตใจ โดยมีหลายวิธีที่จะเริ่มลดการใช้งานลง ตั้งแต่
  • จัดเวลาที่เราจะไม่ยุ่งกับมือถือและไม่สนใจการแจ้งเตือน: เพื่อให้ไม่เสียงานเสียการ ลองแบ่งเวลาการทำงานกับการพักผ่อนออกจากกัน โดยเปลี่ยนการพักผ่อนด้วยการเลื่อนดูโซเชียลมีเดียไปทำอย่างอื่นแทน ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทำก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อลดการรับแสงสีฟ้าที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว
  • ปิดการแจ้งเตือน (Notification): หากในแบบแรกยังดูยากไปเพราะเรายังกังวลว่าจะมีเรื่องสำคัญเข้ามาไหม อาจลองเข้าไปปิดการแจ้งเตือนรายแอปพลิเคชัน เพื่อให้แอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ยังแจ้งเตือนเราอยู่ เช่น แอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการเงินหรือแอปพลิเคชันปฏิทินนัดหมาย
  • กำหนดหรือจำกัดเวลาการใช้งานแอปพลิเคชัน: วิธีนี้เป็นวิธีตรงกันข้ามกับวิธีแรกที่กำหนดเวลาที่จะไม่ใช้งาน ไปเป็นการจำกัดชั่วโมงในการใช้งานโซเชียลมีเดียแทน เพื่อไม่ให้เวลาของเราถูกดึงไปใช้กับการเลื่อนลง (Scroll down) ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จบ[3]
  • ลบแอปพลิเคชันออกจากเครื่อง: การเลือกลบแอปพลิเคชันออกเป็นวิธีการหักดิบเพื่อสร้างนิสัยใหม่ในการใช้งานเลย ในช่วงแรกเราอาจจะเผลอหยิบมือถือขึ้นมาเพื่อดูการแจ้งเตือน แต่จะไม่เจอแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย ทำให้เมื่อเราทำบ่อย ๆ ก็จะคุ้นเคยกับการไม่หยิบมือถือมาเปิดดูเมื่อว่าง และได้เอาสมองไปคิดเรื่องอื่นมากกว่าการรอดูสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์
  • วางโทรศัพท์ไว้ไกล ๆ มือหรือปิดเครื่องในเวลานอน: เพื่อไม่ให้เราเห็นมือถืออยู่ในสายตาจนต้องหยิบขึ้นมา นอกจากนี้ยังเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้เราไม่ใช้งานในช่วงเวลานั้น ๆ
ในทุกวิธีการต้องใช้การรู้สึกตัวและฝืนใจเล็กน้อย แต่เมื่อเริ่มทำได้แล้ว เราจะเริ่มเบาจากข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาที่เราต้องรู้น้อยลง

JOMO สิ่งสะท้อนความสำเร็จของวัคซีน

เมื่อเราล้างสารพิษที่เกิดจากการใช้งานโซเชียลมีเดียที่ไม่ดีต่อสุขภาพกายและใจของเราออก จนสามารถบำบัดอาการ FOMO ได้แล้ว เราจะได้เวลากลับมามากขึ้น ได้หยุดการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น ได้หยุดพักจากการอ่านเนื้อหาตลอดเวลา ได้หยุดพักจากการถูกกระตุ้นความอยากรู้ข่าวสาร
 
การได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อเสริมสร้างความภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) ได้หยุดพักจากการรับข้อมูลที่เยอะไป ได้ขยับร่างกายหรือมีเวลาให้กับสิ่งที่อยู่ในโลกจริงบ้าง ด้วยความเข้าใจว่าโลกก็มีข่าวสารหรือเนื้อหา (Content) ใหม่ ๆ ตลอดอยู่แล้ว เราไม่ต้องกลัวการพลาดข่าวสารหรอก (ยิ่งตอนนี้มีหลายเพจหรือ Platform ที่ชอบสรุปข่าวให้เราอย่างกระชับอยู่แล้ว)
 
ในชีวิตเรามีหลายสิ่งที่ทำได้นอกเหนือจากในโลกออนไลน์ ทำให้เราได้ไปทำอย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ คุยกับคนในครอบครัว เล่นกับสุนัข ทำอาหาร หรือแม้แต่นั่งเงียบ ๆ กับตัวเองบ้าง จนเราอาจได้ค้นพบงานอดิเรกใหม่ ๆ และค้นพบความสุขจากการได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบทีละอย่างในช่วงเวลาที่มีคุณภาพ โดยที่เราไม่ต้องรับรู้เรื่องราวหรือข่าวสารทุกอย่างก็ได้ อย่างที่เรียกกันว่า Joy Of Missing Out หรือ JOMO

ใช้เป็น ไม่เท่ารู้ทัน

โซเชียลมีเดียไม่ได้มีแต่ผลเสีย ยังมีด้านดี ๆ ที่เราใช้ประโยชน์จากมันได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามชีวิตของเพื่อนเราและร่วมแสดงความยินดีกับเขา เรียนรู้การรับฟังความเห็นในแง่มุมที่แตกต่างเพื่อไม่ให้มุมมองของเรามีเพียงด้านเดียว ใช้ในการตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) ที่เราจะรู้ทันความรู้สึกและสาเหตุของความรู้สึกของตนเอง หรือการดึงประโยชน์ของการทำการตลาดเฉพาะกลุ่ม (Personalization) มาเพื่อใช้ในการโฆษณาสินค้าที่ตรงกับความตรงการของกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย เป็นต้น โซเชียลมีเดียจึงเป็นอีกนวัตกรรมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับการใช้งานและรู้เท่าทันเทคโนโลยีนั่นเอง

ใครมีไอเดียหรือวิธีการดี ๆ ในการทำโซเชียลดีท็อกซ์อีก สามารถคอมเมนต์มาแนะนำเพื่อน ๆ ได้เลย จะได้ JOMO ไปด้วยกัน :)
 
[1] https://www.businessinsider.com/12-ways-your-smartphone-is-making-your-life-worse-2018-6#12-they-may-not-be-good-for-our-mental-health-12
[2] https://www.sciencefocus.com/future-technology/trapped-the-secret-ways-social-media-is-built-to-be-addictive-and-what-you-can-do-to-fight-back/
[3] https://www.healthline.com/health/social-media-addiction#takeaway

โซเชียลมีเดียจึงเป็นอีกนวัตกรรมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับการใช้งานและรู้เท่าทันเทคโนโลยี

Rating :
Avg: 4 (3 ratings)