มาตรฐานเกี่ยวกับธุรกรรมฯ
- 05 Jun 14
-
1438
-
หมายเลข Object Identifier (OID) และหน่วยงานรับจดทะเบียน (Registration Authority:RA)
ในประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แนวทางการจัดทำแนวนโยบาย (Certificate Policy) และแนวปฏิบัติ (Certification Practice Statement) ของผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority) พ.ศ.2553 ได้ให้คำนิยาม Object Identifier หรือ OID คือ “ค่าสัมพันธ์ซึ่งบอกถึงข้อมูลสารสนเทศของวัตถุ (Information Object) ใดๆ โดยเป็นค่าที่สามารถบ่งชี้ได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวของ Object นั้นๆ” ซึ่งอีกนัยหนึ่ง OID คือ ชุดตัวเลขที่ใช้ระบุอ้างอิงวัตถุ (object) และบ่งบอกถึงความเป็นหนึ่งของวัตถุใดๆ เป็นกลไกการระบุวัตถุที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สำหรับใช้ในการตั้งชื่อชนิดของวัตถุ แนวคิด หรือ สิ่งใดๆ เพื่อให้มีความชัดเจน ไม่ซ้ำกันทั่วโลก และเพื่อใช้ระบุอ้างอิงวัตถุนั้นๆ
แนวคิดของ OID เริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 ตอนต้น จนได้มีการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ OID ขึ้นในปี ค.ศ.1984 และในปัจจุบันมาตรฐานการกำหนดโครงสร้างและวิธีการใช้งาน OID คือ ISO/IEC 8824 หรือ ASN.1 และกลุ่มของมาตรฐาน ITU-T X.660 และ ISO/IEC 9834 series (ITU-T SG 17 และ ISO/IEC JTC 1 / SC 6) ที่กำหนดถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของการเป็นเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียน OID (Registration Authority: RA) ซึ่งกำหนดวิธีการจัดสรรหมายเลข OID โดยใช้ตัวเลขและใช้โครงสร้างแบบลำดับชั้นหรือ Registration Hierarchical Name Tree (RH-name-tree)
ในปัจจุบันกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MICT) เป็นหน่วยงานรับจดทะเบียนหมายเลข OID สำหรับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ทำการรับจดทะเบียน ให้กับผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (Thailand National Root Certification Authority: Thailand NRCA) สำหรับใช้ระบุข้อมูลและวัตถุต่างๆ ที่จำเป็นในการให้บริการเกี่ยวกับใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์
ผู้เขียน: กลุ่มงานกำกับดูแลฯ
ผู้เรียบเรียง: กลุ่มงานติดตามฯ