วัตถุประสงค์ (Purpose)
อนุสัญญาว่าด้วยการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้งานด้านการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในการค้าระหว่างประเทศ โดยมีการรับรองว่าสัญญาและการติดต่อสื่อสารที่เกิดขึ้นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะมีผลทางกฎหมายเช่นเดียวกับเอกสารกระดาษแบบดั้งเดิม
ความสำคัญของกฎหมายต้นแบบ (Why is it relevant?)
ข้อกำหนดทางรูปแบบในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น อนุสัญญานิวยอร์กว่าด้วยการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและ CISG ว่าด้วยการขายสินค้าระหว่างประเทศ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานด้านการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ อนุสัญญานี้จึงมีบทบาทในการขจัดข้อจำกัดเหล่านั้น โดยมีการรับรองว่ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับการยอมรับเทียบเท่ากับรูปแบบเอกสาร
นอกจากนี้ อนุสัญญายังมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสอดคล้องของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละประเทศ กระตุ้นให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายต้นแบบของ UNCITRAL อย่างสม่ำเสมอ และปรับปรุงบทบัญญัติให้ทันกับแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
สาระสำคัญของกฎหมายต้นแบบ (Key Provisions)
อนุสัญญาฉบับนี้ต่อยอดจากกฎหมายต้นแบบ UNCITRAL ว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยยึดหลักการไม่เลือกปฏิบัติ, หลักการความเป็นกลางทางเทคโนโลยีและหลักการความเทียบเท่าทางหน้าที่
ตาม มาตรา 1 อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับกับการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างคู่สัญญาที่ตั้งอยู่ในคนละประเทศ โดยอย่างน้อยหนึ่งฝ่ายต้องตั้งอยู่ในรัฐภาคี ทั้งนี้ ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ใน มาตรา 2 สำหรับสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ส่วนบุคคล ครอบครัว หรือภายในครัวเรือน รวมถึงบางประเภทของธุรกรรมทางการเงิน เอกสารเปลี่ยนมือและเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เพื่อจำกัดขอบเขตการใช้ให้เหมาะสมกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญา
อนุสัญญายังให้ความสำคัญกับความถูกต้องของกระบวนการสื่อสาร โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ของการส่งหรือรับข้อความอิเล็กทรอนิกส์ใน มาตรา 10 เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการตีความสิทธิ หน้าที่ และผลทางกฎหมายของคู่สัญญาได้อย่างชัดเจนในบริบทของเทคโนโลยีสารสนเทศ
หลักการสำคัญที่ปรากฏใน มาตรา 8 คือ การห้ามปฏิเสธผลทางกฎหมายของการสื่อสาร เพียงเพราะมีรูปแบบเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นแกนกลางในการรองรับธุรกรรมทางดิจิทัล และเป็นพื้นฐานของการเทียบเท่าทางหน้าที่ระหว่างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารกระดาษที่ระบุไว้ใน มาตรา 9 โดยกำหนดว่าหากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ก็ถือว่ามีผลเทียบเท่าเอกสารในรูปแบบกระดาษตามที่กฎหมายกำหนด
อนุสัญญาฉบับนี้รองรับการทำธุรกรรมผ่าน ระบบอัตโนมัติ โดยระบุใน มาตรา 12 ว่าการทำสัญญาที่เกิดขึ้นผ่านระบบ เช่น AI หรือระบบตอบกลับอัตโนมัติ แม้ไม่มีบุคคลควบคุมโดยตรง ก็ถือว่ามีผลผูกพันตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากข้อเสนอถูกส่งโดยไม่ระบุคู่สัญญาอย่างชัดเจน เช่น การประกาศบนเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์จะถือเป็นเพียง "การเชิญให้เสนอ" ตาม มาตรา 11 ไม่ใช่ข้อเสนอที่มีผลผูกพันโดยอัตโนมัติและเพื่อป้องกันความเสียหายจาก ข้อผิดพลาดที่เกิดจากการกรอกข้อมูลในระบบอัตโนมัติ อนุสัญญาได้กำหนดแนวทางให้สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดได้ใน มาตรา 14 เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้งานและรักษาความเป็นธรรมในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ที่มา: https://uncitral.un.org/en/texts/ecommerce/conventions/electronic_communications