TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล

นโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลปี 2566 Documents

นโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลปี 2566

นโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลปี 2566

ตามที่รัฐบาลมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 - 2580 เป็นแผนการพัฒนาประเทศที่กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องทำตาม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดังนั้น ผอ.สพธอ. (ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์) จึงมีกรอบแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรและแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรที่สอดรับกับนโยบายและแผนระดับชาติข้างต้น โดยนโยบายในการบริหารทรัพยากรบุคคลของ สพธอ. (พ.ศ. 2566 - 2570) มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในทุกมิติเพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พร้อมปรับปรุงแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรบุคคลตามข้อบังคับคณะกรรมการกำกับ สพธอ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2564 ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ พร้อมยึดมั่นในการมีธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งสรุปหัวข้อสำคัญตามนโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลปี 2566  ดังนี้

1. การวางแผนกำลังคน
สำนักงานมีการดำเนินการตามนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการบริหารงานบุคคล มีการกำหนดโครงสร้างองค์กรและวางแผนกำลังคน เพื่อกำหนดจำนวนพนักงานในแต่ละสายงานให้เหมาะสม สามารถทำงานได้ตอบโจทย์ภารกิจและวัตถุประสงค์การจัดตั้งสำนักงานโดยมีความเข้าใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายตามนโยบายและแผนชาติได้อย่างไร นอกจากนี้ ในการวางกำลังคนยังคำนึงถึงภารกิจที่เป็นความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ พร้อมคอยปรับปรุงแผนอัตรากำลังให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ สำนักงานยังมีการบริหารจัดการอัตรากำลังด้วยการมีข้อมูลด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (e-HRM) ที่ถูกต้อง โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ พร้อมที่จะนำไปใช้สำหรับการวิเคราะห์แนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลในอนาคตได้ในมิติต่าง ๆ
 
2. การสรรหาคนดีคนเก่งเพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงาน
ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกพนักงานที่สอดรับกับโครงสร้างและอัตรากำลัง โดยมีกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรมสอดรับตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำการสรรหาเชิงรุกด้วยการเพิ่มช่องทางการสรรหาหลากหลาย เพื่อการเข้าถึงผู้สมัครที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของพนักงานด้วยทุนการศึกษาในสายงานที่สำคัญและเป็นที่ต้องการ ทั้งนี้ ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการสรรหาคนเก่งมาร่วมงานกับสำนักงานและพัฒนาคนที่มีอยู่ให้มีความเป็นเลิศในการทำงานเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจของประเทศ แต่ทุกคนจะได้รับการปลูกฝังให้มีความตระหนักในการเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อองค์กรและประเทศชาติซึ่งสอดรับกับวัฒนธรรมองค์กร DNA และ Core value ขององค์กร

3. การพัฒนาบุคลากร
สพธอ. มีการกำหนดแผนการพัฒนาบุคลากรและแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาบุคลากร ปี 2566 ซึ่งแผนดังกล่าวอ้างอิงจากสมรรถนะ (Competency) ที่พนักงานในแต่ละศูนย์/ฝ่ายจำเป็นต้องมีในการปฏิบัติงาน ทั้งในด้าน Functional และ Soft Competency โดยมีการรายงานผลการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ให้แก่คณะกรรมการและอนุกรรมการอย่างสม่ำเสมอ (รายไตรมาส) เพื่อมุ่งเน้นให้พนักงานในทุกระดับได้รับการพัฒนาขีดความสามารถอย่างเหมาะสม โดย สพธอ. นำโมเดลการเรียนรู้และพัฒนา 70:20:10 มาปรับใช้ เพื่อให้พนักงานสามารถพัฒนาและเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนการอบรมและพัฒนาพนักงานประกอบด้วยหลักสูตรความรู้เฉพาะด้าน พัฒนาทักษะที่เป็น Soft Skill และทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ หลักสูตรสำหรับผู้บริหาร หลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และรวมถึงการอบรมที่สร้างความตระหนักให้พนักงานมีคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น นอกจากนี้ สพธอ. ยังมีแผนงาน/โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับพนักงาน สพธอ. ระยะ 3 ปี (2565 - 2567) เพื่อพัฒนาพนักงาน สพธอ. ให้มีศักยภาพสูงสามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อน สพธอ. ทั้งมิติการกำกับดูแลตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์ การส่งเสริมและยกระดับความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

4. การสร้างทางก้าวหน้าในสายอาชีพ
สพธอ. ให้ความสำคัญต่อความก้าวหน้าในสายอาชีพของพนักงาน โดยมีการกำหนดคำอธิบายระดับตำแหน่งการพัฒนาขีดความสามารถ การกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพของตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งสำนักงานมีเกณฑ์การพิจารณาและประเมินสมรรถนะ (Competency) ผลงาน (Performance) และความประพฤติ (Behavior) เพื่อพิจารณา/คัดเลือกพนักงานที่เหมาะสมในการเข้ารับตำแหน่ง รวมทั้งสนับสนุนให้พนักงานมีการเรียนรู้ สามารถทำงานได้หลากหลาย มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง หรือการรับหน้าที่ใหม่ๆในอนาคต (Growth Mindset) กระตุ้นให้เกิดการนำทักษะที่เป็นจุดแข็งทำงานร่วมกันในลักษณะข้ามศูนย์/ฝ่าย (Cross Function)  เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเรียนรู้อันเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าในสายอาชีพ

5. การพัฒนาคุณภาพชีวิต
สพธอ. คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของพนักงาน จึงมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้เกิดความสมดุล ยืดหยุ่น ปลอดภัย และมีกิจกรรมเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างพนักงาน ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน โดยมีการจัดสวัสดิการที่หลากหลายอย่างเหมาะสมให้พนักงานและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม เพื่อที่จะได้มีกำลังกายและกำลังใจอย่างเต็มที่ในการทำงานและส่งมอบผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ โดยมีการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพพนักงาน เช่น จัดให้มีการทำประกันสุขภาพ การจัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี และสวัสดิการอื่นๆตามระเบียบข้อบังคับด้านบริหารทรัพยากรบุคคล มีการส่งเสริมสุขภาพอนามัย และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการเวลาทำงานอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการชีวิตส่วนตัวและการทำงาน โดยสำนักงานมีการลงเวลาปฏิบัติงานแบบยืดหยุ่น (Flexible) เพื่อให้พนักงานหลีกเลี่ยงการจราจรหนาแน่น หรือสามารถบริหารจัดการภารกิจส่วนตัวได้ก่อนมาทำงาน นอกจากนี้ นโยบาย Work Form Anywhere ที่พัฒนาต่อยอดมาจากนโยบาย Work From Home ในช่วงสถานการณ์โควิด19 เพื่อให้พนักงานมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

6. การบรรจุและแต่งตั้งบุคลากร
สำนักงานกำหนดกระบวนการดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งบุคลากรตามกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ด้วยความเสมอภาคและโปร่งใส โดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เป็นสำคัญ อิงตามตามข้อบังคับคณะกรรมการกำกับ สพธอ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2564 พร้อมทำตามกระบวนการและขั้นตอนภายในที่สอดคล้องตามระเบียบและข้อบังคับอย่างสม่ำเสมอ

7. การประเมินผลการปฏิบัติงาน
สพธอ. กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานในประกาศของสำนักงานอย่างชัดเจนและเป็นที่ทราบของพนักงานโดยทั่วกัน อันเป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหาร สพธอ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2564 และระเบียบ สพธอ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการทำสัญญาจ้างปฏิบัติงาน การประเมินผลทดลองการปฏิบัติงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการบริหารผลการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้าง สพธอ. พ.ศ. 2564
นอกจากนี้ ในการกำหนดตัวชี้วัดจะมีการขอความเห็นชอบเป้าหมายและตัวชี้วัดระดับองค์กรจากคณะกรรมการก่อน เพื่อถ่ายทอดตัวชี้วัดเป้าหมายองค์กร สู่เป้าหมายของฝ่ายบริหาร และเชื่อมโยงสู่เป้าหมายของแต่ละศูนย์/ฝ่าย ทีมย่อย เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดรายบุคคล โดยเป้าหมายและตัวชี้วัดรายบุคคลจะประกอบไปด้วยผลงานซึ่งอาจเป็นผลงานจากงานประจำและผลงานในโครงการ และมีการนำค่านิยมองค์กรมาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินด้านพฤติกรรมเพื่อให้พนักงานทุกคนตระหนักและมีพฤติกรรมสอดคล้องกับค่านิยมองค์กรด้วย ทั้งนี้ การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานยังมีเกณฑ์การประเมินและระดับผลการประเมินที่ชัดเจนและเป็นที่รับรู้ของพนักงาน

8. การส่งเสริมจริยธรรมและรักษาวินัยของบุคลากรในหน่วยงาน
สพธอ. ให้ความสำคัญและกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับการมีจริยธรรมและวินัยในการปฏิบัติงาน ซึ่งได้มีการประกาศเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้ทำงานตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหาร สพธอ. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมกรรมการ ผู้อำนวยการและผู้ปฏิบัติงานของ สพธอ. นอกจากนี้ ตามข้อบังคับคณะกรรมการกำกับ สพธอ. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2564  ยังกำหนดให้พนักงานและลูกจ้างต้องรักษาวินัยตามที่กำหนดเป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ สำนักงานยังมีกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสร้างธรรมาภิบาลให้กับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พนักงานเกิดความตระหนัก ยึดมั่นในการประพฤติตน ทำงานตามกฎระเบียบวินัยและมีจริยธรรม อาทิ การกำหนดแนวปฏิบัติ การจัดอบรม การกำหนดพฤติกรรมที่เหมาะสม การกำหนดวินัยพนักงาน และการสื่อสารกับพนักงานอย่างต่อเนื่อง