TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

International Ranking Documents

International Ranking

ภาพรวมการพัฒนา ICT ตามดัชนีวัดในเวทีโลก

การทราบถึงสถานะความพร้อมด้าน ICT ของประเทศต่อการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมในรูปแบบตางๆ นั้น ในปัจจุบันได้มีการพิจารณาจากดัชนีชี้วัดสำคัญในเวทีโลก เช่น The Networked Readiness Index: NRI เผยแพร่โดย World Economic Forum: WEF, United Nations E-Government Survey: EGDI โดย UN และ Doing Business Index เผยแพร่โดย World Bank เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวข้างต้นสามารถนำผลจากการเปรียบเทียบอันดับของประเทศไทยกับประเทศเป้าหมายที่ทำเปรียบเทียบ (Benchmarking) เพื่อกำหนดทิศทางของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ในระยะยาว ดังนั้น ข้อมูลดังต่อไปนี้จะเป็นการแสดงถึงอันดับของประเทศไทยที่ปรากฏในดัชนีต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง องค์ประกอบการพิจารณาอันดับ วัตถุประสงค์ที่ดัชนีต่างประเทศได้กำหนดขึ้น โดยสรุปดังนี้

อันดับดัชนีความพร้อมทางเครือข่าย (The Networked Readiness Index)

ดัชนี Networked Readiness Index (NRI) เป็นดัชนีชี้วัดที่จัดอันดับโดยประเมินความพร้อมด้านเครือข่ายของประเทศทั่วโลกรวมถึงประเมินทั้งในด้านสภาพแวดล้อม การเมือง การตลาด โครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมของธุรกิจ ภาครัฐ และบุคคล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ปัจจุบัน NRI มีการจัดอันดับครอบคลุมประเทศทั้งสิ้น 139 ประเทศ ในปี 2559 ปัจจัยหลักที่ใช้ในการพิจารณาการจัดอันดับดัชนีความพร้อมทางเครือข่าย ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม (Environment) ด้านความพร้อม (Readiness) ด้านการใช้ (Usage) และด้านผลกระทบ (Impacts) 

แผนภาพที่ 1 - 1 อันดับดัชนีความพร้อมทางเครือข่าย Networked Readiness Index (NRI) เปรียบเทียบระหว่างปี 2558 – 2559

P0.jpg
แผนภาพที่ 1 - 2 อันดับดัชนีความพร้อมทางเครือข่าย Networked Readiness Index (NRI) เปรียบเทียบปัจจัยย่อยของประเทศไทย ระหว่างปี 2558 – 2559
P1.jpg
ที่มา: World Economic Forum, The Global Information Technology Report 2558

จะเห็นได้ว่า อันดับ 1-3 มีเพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวที่ไม่ได้อยู่ใน EU แต่หาก พิจารณาเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ใน 10 อันดับแรกมีเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับที่ 1 ปีทั้งปี 2558 และ 2559) และ ญี่ปุ่น (อันดับที่ 10 ปีทั้งปี 2558 และ 2559)

เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับ ปี 2559 พบว่า ปัจจัยธุรกิจและสภาพแวดล้อมในการสร้างสรรค์นวัตกรรม (business and innovation environment) เป็นประเด็นที่ไทยอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับด้านอื่น ๆ โดยอยู่ในอันดับที่ 48 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ไทยขยับขึ้นมาก คือ ความสามารถในการใช้จ่าย (Affordability)  อยู่อันดับ 64 รองลงมาปัจจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic impacts) อันดับที่ 74 อย่างไรก็ตามประเด็นที่แสดงให้เห็นว่าความพร้อมของไทยลดลง คือ โครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลคอนเทน (Infrastructure and digital content)
 

อันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ e-Government Development Index (EGDI)

ดัชนี EGDI  หรือ e-Government Development Index จัดทำเพื่อประเมินเปรียบเทียบความสามารถของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อให้บริการผ่านสื่อออนไลน์แก่ประชาชน ซึ่งเป็นความพร้อมที่มีความเกี่ยวโยงกับหลายภาคส่วนของภาครัฐในด้านการบริการการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ข้อมูลการจัดอันดับ ดัชนี EGDI สามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการทำ Benchmark ความก้าวหน้าในการให้บริการ e-Services ของภาครัฐได้

ปัจจุบัน ดัชนี EGDI  มีการจัดอันดับครอบคลุมประเทศทั้งสิ้น 193 ประเทศ ปี พ.ศ. 2559 ปัจจัยหลักที่ใช้ในการพิจารณาการจัดอันดับดัชนี ประกอบด้วย การให้บริการออนไลน์ (Online Service Index) โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมการสื่อสาร (Telecommunication Infrastructure Index)  และทุนมนุษย์ (Human Capital Index)

แผนภาพที่ 2 - 1 เปรียบเทียบอับดับความพร้อมของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Readiness) ของไทย ปี 2557 และ 2559

P2(1).jpg
ที่มา: United Nations, e-Government Development Index 2555, 2557

เปรียบเทียบอับดับความพร้อมของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Readiness) ของไทยในปี 2557 และ 2559 พบว่า อันดับในภาพรวมของประเทศไทยมีอันดับที่ขยับตัวดีขึ้นมาก จากปี 2557 คือ อันดับที่ 102 มาเป็นอันดับ 77 โดยปัจจัยที่ดีขึ้นได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมการสื่อสาร (Telecommunication Infrastructure Index) ซึ่งปี 2559 ได้อันดับ 77 และ ทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ได้อันดับ 95 ส่วนการให้บริการออนไลน์ (Online Service Index) มีอันดับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 79 ดังแสดงแผนภาพที่ 2-1
 

อันดับความยากง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจ (Doing Business)

รายงาน Doing Business เผยแพร่โดยธนาคารโลก (World Bank) เป็นรายงานวัดความยากง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก 
ปัจจุบัน Doing Business ได้ประกาศดัชนี 2016 รายงานวัดความสะดวกในการประกอบธุรกิจประกอบด้วยตัวชี้วัด10 ด้าน ครอบคลุมประเทศทั้งหมด 189 ประเทศ ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) การขออนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction Permits) การขอติดตั้งระบบไฟฟ้า (Getting Electricity) การจดทะเบียนทรัพย์สิน (Registering Property) การรับสินเชื่อ (Getting Credit) การคุ้มครองผู้ลงทุน (Protecting Investors) การชําระภาษี (Paying Taxes) การค้าระหว่างประเทศ (Trading Across Boarders) การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing Contracts) และการแก้ไขสภาวะล้มละลาย (Resolving Insolvency)

แผนภาพที่ 3 - 1 เปรียบเทียบอันดับความยากง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจของไทย เปรียบเทียบปี 2558 – 2559 ใน East Asia & Pacific

P3.jpg

ที่มา: The World Bank 

การจัดอันดับความยากง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจ โดยจะวัดจากความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ความรวดเร็วในการดำเนินการ (Faster) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ต่ำ (Cheaper) และกฎหมาย กฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินการ (Smarter regulations) ตลอดจนเพื่อศึกษาอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ 

รายงานผลการเปรียบเทียบจัดอันดับความสะดวกจากข้อมูล ในปัจจุบันข้อมูล Doing Business 2016 พบว่า ภาพรวมของประเทศไทยมีอันดับที่ลดลง คือ อันดับที่ 49 จากปีก่อนหน้าคืออันดับที่ 46 โดยตัวชี้วัดที่ดีขึ้นที่สุดได้แก่ การขออนุญาตก่อสร้าง  (Dealing with Construction Permits) ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 39 ส่วนตัวชี้วัดที่มีอันดับลดลงมากที่สุดคือ การชําระภาษี (Paying Taxes) โดยมาอยู่อันดับที่ 70 การจัดอันดับดังกล่าว จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการและนักลงทุนเข้ามาลงทุน และประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนที่ลดลง ทั้งนี้อาจจะมีผลต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ลดลงอีกด้วย (ดังแสดงแผนภาพที่ 3-1)