TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

ข่าวประชาสัมพันธ์

ถอดรหัส Digital ID จากหลักสูตร Course Series DIGITAL ID ที่จัดขึ้นโดย ADTE by ETDA

ADTE Documents
  • 08 มิ.ย. 65
  • 1526

ถอดรหัส Digital ID จากหลักสูตร Course Series DIGITAL ID ที่จัดขึ้นโดย ADTE by ETDA

บทความนี้เราจะมาถอดรหัสใจความสำคัญจากหลักสูตร Digital ID ยกระดับ องค์กร ธุรกิจ ให้สามารถทำทุกธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ “พิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” รวดเร็ว ปลอดภัย ง่ายต่อการตรวจสอบ โดยหลักสูตรนี้แบ่งเป็น 4 Course Series และ 1 Workshop ตลอด 3 วัน รวม 12 ชั่วโมง ที่จัดขึ้นโดยสถาบัน ADTE by ETDA แหล่งรวมความรู้เพื่อคนดิจิทัล

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว รูปแบบการทำงานขององค์กรก็เปลี่ยนไป มีการปรับตัวเพื่อตอบรับกับการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล การพัฒนาความรู้ของบุคลากรในองค์กร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้นไปอีกขั้นจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น และถือเป็นวิธีหนึ่งที่ตอบโจทย์การทำงานในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น และส่งเสริมการใช้งาน ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จึงให้ความสำคัญกับเรื่อง Digital ID ใน 3 มิติ ดังนี้

  1. ออกมาตรฐานรองรับการใช้งาน Digital ID
  2. สนับสนุนให้เกิด Innovation ในการใช้งาน Digital ID ด้วยเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ
  3. การกำกับดูแล (Regulate) ผู้ให้บริการ เพื่อให้การบริการมีความน่าเชื่อถือ

สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้เกิด Ecosystem ของการผลักดันให้เกิดบริการที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID หรือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับเครือข่ายหรือ Partner ทั้งรัฐและเอกชน รวมไปถึง Service Provider ที่นี้ได้ทำความรู้จักกับบทบาทของ ETDA ในการส่งเสริม Digital ID ไปแล้ว เกริ่นถึงภาพใหญ่กันไปแล้วถึงตรงนี้แล้วเรามาเริ่มการถอดรหัสหลักสูตร Course Series DIGITAL ID จาก ADTE by ETDA กันเลย

EP.1 รู้จัก Digital ID

Digital ID คุณลักษณะหรือชุดของคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะและสามารถบ่งบอกหรือจำแนกบุคคลได้ภายในบริบทที่กำหนด หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่าเป็น ID ในรูปแบบ Digital นั่นเอง
ตัวอย่างของ คุณลักษณะ (Attribute) เช่น
เลขบัตรประจำตัวประชาชน / ชื่อ/ ที่อยู่ / วันเดือนปีเกิด / เบอร์โทรศัพท์ / ภาพใบหน้า / อีเมล และ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระบุ
Digital ID สำคัญอย่างไร ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการบนโลกดิจิทัลที่หลากหลาย ปัญหาที่ผู้ใช้บริการต้องเจอคือต้องสร้าง ID ซ้ำ ๆ ก่อนเข้ารับบริการ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนในการทำธุรกรรมออนไลน์ Digital ID จึงมีบทบาทสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยให้การทำธุรกรรมออนไลน์เป็นเรื่องง่าย สะดวก ปลอดภัย จึงเป็นที่มาของ concept ที่จะทำให้ Digital ID นั้น reuseable หรือสามารถใช้งานร่วมกับบริการอื่น ๆ ได้โดยใช้ ID เดิมที่มีอยู่แล้ว การนำ Digital ID มาใช้นั้น นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในด้านต้นทุน การจัดการ และการให้บริการทางดิจิทัลแล้ว ในมุมของผู้ใช้งาน Digital ID ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการพิสูจน์ตัวตนและช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนได้โดยง่าย

ความสะดวกสบายในการใช้งานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จากผลสำรวจที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ETDA และ NIDA ชี้ให้เห็นว่า คนไทย 8 ใน 10 จากกลุ่มตัวอย่าง 973 คน มีความคิดเห็นว่าเรื่อง Digital ID เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนและผลักดัน เพื่อให้เกิดการใช้งานที่ทั่วถึง

content-WEB-DID-02-02.jpg

ประโยชน์หลักของ Digital ID ในมุมมองประชาชน ทำให้เห็นว่าสิ่งที่จะดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้ Digital ID เพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดมาจากสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ดังนี้

  1. 74.82% สามารถยืนยันตัวตนได้สะดวก
  2. 65.47% ลดความเสี่ยงการถูกปลอมแปลงตัวตน
  3. 62.69% เพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

content-WEB-DID-03-03.jpg

5 อันดับการบริการจากภาครัฐที่ใช้ Digital ID และประชาชนให้ความสนใจ

  1. 88.59% การลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการจากภาครัฐ
  2. 87.26% การรับบริการด้านภาษี
  3. 87.15% การรับบริการด้านสาธารณูปโภค
  4. 86.74% การรับสิทธิประกันสังคม
  5. 86.02% การรับบริการด้านคมนาคมขนส่ง

Digital ID กับการผลักดันของรัฐ (ร่าง) พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นกฎหมายกลาง เพิ่มระดับความเข้มข้นของการใช้บังคับ ส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐ สามารถนำไปใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ในเรื่องต่าง ๆ
ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ มีในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น

  • อำนวยความสะดวกโดยไม่ต้องยื่นเอกสารหลายชุด
  • ไม่ต้องรับรองสำเนาถูกต้อง
  • ไม่จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์ม
  • เมื่อมีการยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว การส่งเอกสารกลับนั้น สามาร ทำได้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน
  • ถ้าเอกสารที่ต้องใช้ประกอบออกโดยหน่วยงานรัฐใด หน่วยงานรัฐที่รับคำขอนั้นต้องรับผิดชอบดำเนินการทำสำเนาเอกสาร และรับรองความถูกต้องของสำเนานั่นเอง

นอกจากตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจหรือหน่วยงานของรัฐ นั่นคือการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งาน Digital ID ซึ่งปัจจุบัน มีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้าน Digital ID ของประเทศ คือ
  • มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เรื่อง การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service)
  • มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เรื่องแนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service-FVS)

นอกจากนั้น ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งดำเนินงานเพื่อยกระดับชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับ Digital ID ตามกฎหมาย ได้เดินหน้าผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ลดภาระที่ไม่จำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้งาน Digital ID ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย

จบ Episode แรกไปแล้ว ทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจความเป็น Digital ID กันมากขึ้นมาต่อกันที่ Episode สองกันเลย ใน Episode นี้จะพูดถึงกระบวนการสำคัญของ Digital ID ในเชิงรายละเอียดและการนำเทคโนโลยีไปใช้งานจริง ทั้งผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ในการใช้งานที่ถูกต้อง

EP 2. Digital ID Law…มีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง

ใน Episode นี้เราก็จะได้เรียนรู้ถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID มาเริ่มกันที่ “กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์”

กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (Electronic Transaction Act) นั้น เป็นกฎหมายที่จะมาช่วยเสริมกฎหมายอื่น ให้สามารถทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มีการกำหนดหลักการที่จะไป overrule หลักเกณฑ์ของกฎหมายอื่น

“ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ฟังดูเข้าใจง่าย แต่จริงๆ แล้วเราเข้าใจมันจริงหรือไม่? “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” คือ ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแตะแค่บางส่วน

ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง?
  • ธุรกรรมทางแพ่ง และพาณิชย์ เช่น การทำสัญญากู้ยืมเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการปลดหนี้เงินกู้ทางอิเล็กทรอนิกส์
  • ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ เช่น การยื่นภาษีออนไลน์ และการยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าส่งออกน้ำตาลทราย
ตัวอย่างของหลักการสำคัญของกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
  • รองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
  • รองรับสถานะทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
  • รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
ข้อกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับปรุงตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
  1. แนวทางยกเลิกและจัดทำเป็นฉบับใหม่
  2. คงหลักการให้เป็นกฎหมายกลาง รองรับข้อมูลและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
  3. เน้นให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก โดยให้สอดคล้องกับสากล และรองรับให้ใช้ได้กับธุรกรรมทุกประเภท
  4. เปิดกว้างการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยระบบที่ถูกรับรองโดยหน่วยงานถือเป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือ
  5. การแสดงเจตนาในแบบอิเล็กทรอนิกส์ อิงหลักการตามกฎหมายปัจจุบัน และให้สอดคล้องกับสากล
  6. การทำนิติกรรม-สัญญาในแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีผลทางกฎหมายไม่ต้องแนบกระดาษควบคู่ / รองรับ Smart Contract / การมอบอำนาจในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีการเสนอให้ยกเว้นในเรื่องของอากรแสตมป์กับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท
  7. หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์และการระงับข้อพิพาท กำหนดให้ผู้ให้บริการจัดเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รองรับให้หน่วยงาน / สามารถประกาศ Warning List ระบบที่ไม่น่าเชื่อถือ / หากมีข้อโต้แย้งหลักฐานจากระบบที่ได้รับการรับรองผู้โต้แย้งจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
001.jpg
002.jpg

ผ่านไป 2 Episode ที่ทำให้เรารู้จัก Digital ID และกฎหมายที่ควบคุมและผลักดันส่งเสริมให้เกิดการใช้งานจริง อย่างเชื่อมั่นและเป็นมาตรฐานสากลของ Digital ID แล้ว Episode ต่อไปเราจะมาเรียนรู้ความเป็นมา และมาตรฐาน ของ Digital ID กัน

EP.3 ในมุมมาตรฐาน Digital ID

ประวัติความเป็นมาการพัฒนามาตรฐานของ Digital ID

content-WEB-DID-04-02.jpg

ทำไม Digital ID ต้องมีมาตรฐาน เพื่อเป็นข้อกำหนดสำหรับ ผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (identity provider: IdP) หรือผู้ซึ่งทำหน้าที่ในการพิสูจน์ตัวตน การบริหารจัดการสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน และการยืนยันตัวตน เพื่อให้ IdP มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันตามระดับความน่าเชื่อถือของการยืนยันตัวตน

ข้อเสนอมาตรฐานฯ เกี่ยวกับ Digital ID มีทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่
  1. ขมธอ. 18-2564 - กรอบการทำงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง การประเมินความเสี่ยง และการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือ ที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
  2. ขมธอ. 19-2564 - ข้อกำหนดของการพิสูจน์ตัวตน สำหรับผู้ที่เป็น IdP ซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตน (Identity Assurance level: (-IAL) หรือ ระดับความเข้มงวดในกระบวนการพิสูจน์ตัวตนของบุคคล
    ที่จะทำให้มั่นใจว่าเป็นบุคคลนั้นจริง ซึ่งมีอยู่ 3 ระดับ
    • ระดับ IAL1 อาจรวบรวมข้อมูลที่บุคคลยืนยันด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ
    • ระดับ IAL2 ขอหลักฐานการแสดงตนตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ว่าเป็นข้อมูลที่มีอยู่จริงตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับอัตลักษณ์ ซึ่งทำได้ทั้งแบบ พบเห็นหน้าหรือไม่พบเห็นหน้า
    • ระดับ IAL3 เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น โดยมีการกำหนดให้ตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เปรียบเทียบข้อมูลชีวมิติ ซึ่งสามารถทำได้แบบพบเห็นหน้าเท่านั้น
  3. ขมธอ. 20-2564 - ข้อกำหนดของการยืนยันตัวตน สำหรับผู้ที่เป็น IdPซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับความน่าเชือถือของการยืนยันตัวตน (Authentication Assurance level: (-AAL) หรือระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนของบุคคลที่ใช้ในการยืนยันตัวตน ที่จะทำให้มั่นใจว่าบุคคลที่กำลังเข้าใช้บริการนั้น เป็นผู้ครอบครองและควบคุมสิ่งที่ใช้ในการยืนยันตัวตนนั้นจริง ซึ่งมีอยู่ 3 ระดับ
    • ระดับ AAL1 การยืนยันตัวตนแบบปัจจัยเดียวใช้ authentication protocol ที่มั่นคงปลอดภัย
    • ระดับ AAL2 การยืนยันตัวตนด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน2 ปัจจัยเป็นอย่างน้อย และใช้ authentication protocol ที่มั่นคงปลอดภัย
    • ระดับ AAL3 การยืนยันตัวตนปัจจัยที่แตกต่างกัน2 ปัจจัยเป็นอย่างน้อย ใช้สิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตนที่เป็นฮาร์ดแวร์ และบรรจุกุญแจเข้ารหัส และใช้ authentication protocol ที่มั่นคงปลอดภัย
Episode สุดท้ายนี้จะเป็นการอธิบายถึงโครงสร้างขั้นตอนการใช้งานของ Digital ID ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ IdP และ RP เข้าใจกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง

 

EP. 4 Digital ID กับการใช้งาน

การพิสูจน์และยืนยันตัวตนถือเป็นกระบวนการที่สำคัญในการให้บริการผ่านระบบดิจิทัล ผู้ให้บริการต้องมีวิธีการสำหรับพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของผู้ขอรับบริการ โดยกระบวนการดังกล่าวต้องมีระดับความน่าเชื่อถือสูง เพื่อให้ผู้ให้บริการมั่นใจได้ว่า ผู้ขอรับบริการมีตัวตนอยู่จริง นอกจากนี้ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ต้องมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดี มีระดับความมั่นคงปลอดภัยสูง สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนต้องไม่สร้างภาระให้กับผู้ขอรับบริการมากจนเกินไป
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง
กระบวนการพิสูจน์ตัวตน กระบวนการยืนยันตัวตน
บุคคลมาแสดงตน ซึ่ง IdP จะพิสูจน์ตัวตนของบุคคลตาม ระดับ IAL ที่กำหนด โดยตรวจสอบหลักฐานข้อมูลที่เกี่ยว กับอัตลักษณ์ เมื่อพิสูจน์สำเร็จ IdP จะออกเอกสาร หรือลงทะเบียน สิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงอัตลักษณ์ของบุคคล เข้ากับสิ่งที่ใช้ยืนยันตน ผู้ใช้บริการขอทำธุรกรรมออนไลน์กับ RP โดยใช้ดิจิทัลไอดีที่มีระดับ IAL และ AAL สอดคล้องตามความต้องการของ RP
RP จะให้ผู้ใช้บริการไปยังหน้าต่างยืนยันตัวตนของ IdP และให้ผู้ใช้บริการยืนยันตัวตนกับ IdP ตามเกณฑ์วิธีที่กำหนด
บุคคลที่ผ่านการพิสูจน์ตัวตนแล้วจะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ใช้บริการ และมีหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน IdP ตรวจสอบความถูกต้องและ ส่งผลการยืนยันตัวตนให้กับ RP ผู้ให้บริการสามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจที่จะให้บริการธุรกรรมกับผู้ใช้บริการ
  RP ทำการเชื่อมต่อกับผู้ใช้บริการเพื่อให้บริการธุรกรรมออนไลน์
หลักเกณฑ์การประเมินระดับผลกระทบที่เป็นไปได้หากการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเกิดข้อผิดพลาด
  • ความสะดวกสบายและความเสี่ยงเกี่ยวกับการเสื่อมเสียชื่อเสียง
  • ความเสียหายทางการเงิน
  • ความเสียหายต่อการดำเนินงานขององค์กรหรือผลประโยชน์ต่อสาธารณะ
  • การเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ความปลอดภัยของบุคคล
  • การละเมิดทางแพ่งและอาญา

3 หลัก ที่ RP และ IdP ต้องคำนึงถึงอะไรบ้างในการใช้ Digital ID
  1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตน และกฎระเบียบข้อบังคับจากหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง
  2. รูปแบบของการยืนยันตัวตน และการพิสูจน์ตัวตนที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกรรม
  3. มาตรฐานและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับรูปแบบของธุรกรรม


นี่เป็นเพียงเนื้อหาของหลักสูตร Digital ID บางส่วน ที่ถอดรหัสมาให้เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน ตามนโยบายของสถาบัน ADTE by ETDA แหล่งรวมความรู้เพื่อคนดิจิทัล
ใครที่กำลังมองหาหลักสูตรที่จะช่วยให้การบริหารธุรกิจ หรือพัฒนาบุคลากร เพื่อให้การทำงานสะดวก รวดเร็ว ง่าย ก้าวทันโลกดิจิทัลและถูกกฎหมาย ทางสถาบัน ADTE มีหลักสูตรแนะนำทั้งหมด 3 หลักสูตร

หลักสูตรที่ 1 Electronic Signature
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ทฤษฎีการสร้างลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ให้ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ไปจนถึงการตรวจสอบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

หลักสูตรที่ 2 Digital ID
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทั้งทฤษฎี กฎหมายมาตรฐาน และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

หลักสูตรที่ 3 Digital Transformation
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้การทรานส์ฟอร์มองค์กร และสิ่งรอบตัวที่เกี่ยวข้องกับการทำงานให้เป็นดิจิทัล เช่น e-Document, e-Office และ e-Meeting

หากสนใจหลักสูตรข้างต้น สามารถสมัครเป็นหลักสูตร Customized Training ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริงไปกับ Workshop สุดเข้มข้นที่มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำตลอดการอบรม

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตร Customized Training ได้ที่อีเมล [email protected] หรือทางโทรศัพท์ 02-123-1235

สุดท้ายนี้ เราขอแนะนำคำศัพท์ทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID ที่เราจะเริ่มเห็นกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในเร็ว ๆ นี้

Digital ID Vocabulary คำศัพท์ที่ต้องรู้

คำศัพท์สำคัญที่ทำให้เข้าใจ

การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

  • การพิสูจน์ตัวตน (Identity Proofing) เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นนาย ก. จริง
  • การออกและบริหารจัดการสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน (Authenticator Management) เพื่อเชื่อมโยงนาย ก. กับสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน
  • การยืนยันตัวตน (Authentication) เพื่อให้มั่นใจว่านาย ก. (ที่พิสูจน์ตัวตนแล้ว) เป็นผู้ที่เข้ามาทำธุรกรรม
สิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน
  • สิ่งที่คุณรู้ (Something you Know) เช่นรหัสผ่าน (Password)
  • สิ่งที่คุณมี (Something you have) เช่นกุญแจเข้ารหัส
  • สิ่งที่คุณเป็น (Something you are) เช่น ใบหน้าและลายนิ้วมือ
บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID
  • ผู้ใช้บริการ (Subscriber)
  • ผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตน (Identity Provider :IdP)
  • บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identity Platform Service)
  • ผู้อาศัยการยืนยันตัวตน (Relying Party : RP)
  • แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (Authoritative Source : AS)

Rating :
Avg: 4.7 (3 ratings)