TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

ข่าวประชาสัมพันธ์

ETDA เร่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 64-65 หนุนพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ

ETC Documents
  • 14 ส.ค. 64
  • 1950

ETDA เร่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 64-65 หนุนพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัด การประชุมเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือ และระดมความคิดเห็นการดำเนินการตาม (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564-2565 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform: NDTP) หมุดสำคัญดันไทย ติดอันดับ Top 20 ของ Ease of Doing Business ภายในปี 2565

ชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ETDA ดำเนินการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย หรือ NDTP) ให้สอดคล้องกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ สพร. กำหนด เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ETDA ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ที่ทำหน้าที่ในการผลักดัน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564-2565 เพื่อเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติและการสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมให้ประเทศ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกที่ ทุกเวลา สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต จึงได้นำเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDTP มาเป็นอีกงานสำคัญที่ต้องมีการขับเคลื่อนภายใต้ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ในโปรแกรมที่ 2 Thailand’s Digital Services & Cross Digital Platform Standard

(ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ โปรแกรมที่ 2 Thailand’s Digital Services & Cross Digital Platform Standard มีเป้าหมายผลักดันให้บริการดิจิทัลของรัฐและเอกชน น่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ยกระดับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันในทุกมิติ (Cross Digital Platform) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นำมาสู่เวทีการประชุมเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือ และระดมความคิดเห็น ในรูปแบบ Focus Group ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงาน ก.พ.ร., สำนักงาน ป.ย.ป., กกร., ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมศุลกากร และบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดเห็น หารือถึงแนวทางความร่วมมือ วิเคราะห์และทำความเข้าใจร่วมกันว่า ในการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ของ ETDA ว่ามีส่วนไหนที่จะสามารถเข้าไปสนับสนุน ส่งเสริม ให้ NDTP ของไทยเดินหน้าไปต่อได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะทำให้ดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศ หรือ Ease of Doing Business  อยู่ในอันดับดีขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายที่ว่าจะต้องติด Top 20 ในปี 2565

จากการ Focus Group พบว่า NDTP เป็นแพลตฟอร์มกลางของการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) ที่มีการบูรณาการในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการค้าระหว่างกัน เพื่อลดตุ้นทุน กระบวนการนำเข้าส่งออก (แบบไร้กระดาษ) รวมถึงการเอื้อต่อ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งที่ผ่านมา NDTP ได้มีการเชื่อมโยงกับระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ (G2G, G2B และ B2B) สำหรับการนำเข้า ส่งออก ที่รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศ หรือ National Single Window (NSW) ของกรมศุลกากร รวมถึงแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลของต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์และมีแนวโน้มที่จะเชื่อมต่อกับ ASEAN Single Window ในอนาคตด้วย

ดังนั้น ในที่ประชุมจึงมองว่า ในการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ จะช่วยเข้ามาส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่มีมาตรฐานร่วมกัน สามารถแลกเปลี่ยนเอกสารและข้อมูลทางการค้าต่าง ๆ ข้ามแพลตฟอร์มระหว่างประเทศได้ และต้องเร่งผลักดันในเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ทั้งในบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะเรื่องดังกล่าวคือโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาสถาปัตยกรรมระบบ (System Architecture) และเทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยง NDTP กับระบบ NSW และระบบอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้ผู้นำเข้า-ส่งออกทำการค้าบน NDTP ด้วย

นอกจากนี้ ในต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศให้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จึงทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาระบบ NDTP ประกอบกับปัจจุบันเราเริ่มมีการใช้งาน Digital ID และการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) แล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินหน้าพัฒนามาตรฐาน กฎหมาย ให้ครอบคลุมเพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศคู่ค้าในทุกด้าน  ทั้งด้านการชำระเงิน ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) และการรับ-ส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล 

ทั้งนี้ การจัดประชุมที่เกิดขึ้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงาน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ไม่เพียงหาความเชื่อมโยงแนวทางการสนับสนุนระหว่าง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ กับ NDTP เท่านั้น แต่ยังเป็นการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานในภาพรวมของแผนที่เชื่อมโยงในส่วนของงานสำคัญอื่นๆ ด้วย ซึ่ง ETDA จะจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ขึ้นอีก เพื่อติดตามและประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคและจัดทำ Problem statement สู่การกำหนดแผนส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในภาพรวมที่สอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศและของโลกในอนาคตต่อไป

Thailand National Digital Trade Platform: NDTP หมุดสำคัญ ดันไทย ติดอันดับ Top 20 ของ Ease of Doing Business ภายในปี 2565

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)