TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

องค์กรของคุณใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีได้คุ้มค่าแล้วหรือยัง ?

Digital Service Documents
  • 25 เม.ย. 66
  • 1120

องค์กรของคุณใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีได้คุ้มค่าแล้วหรือยัง ?

ภายในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างเหนือความคาดหมาย ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทาง Digital จนทำให้การดำเนินธุรกิจหรือเศรษฐกิจแบบ Digital กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว เมื่อกิจกรรมและธุรกรรมของผู้บริโภคเกิดขึ้นบนโลก Digital มากขึ้น การเก็บบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้น หลายธุรกิจยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยจึงก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำข้อมูลทั้งในและนอกองค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือ Data-Driven Business และส่งให้ประเทศไทยค่อย ๆ พัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่มีการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Economy) ในที่สุด

พัฒนาการทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในบ้านเราเท่านั้น หลายภูมิภาคของโลกล้วนก้าวไปข้างหน้าด้วยการนำข้อมูลมาต่อยอดสร้างประโยชน์อย่างมหาศาล การขับเคลื่อน Data Economy ไปพร้อม ๆ กับ Digital Economy นี้ก่อให้เกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจในหลายด้าน หลายองค์กรหันมาให้ความสำคัญกับการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล มีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่แม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคา ต้นทุน การบริหารจัดการภายในองค์กร การกำหนดทิศทางขององค์กร และการตัดสินใจด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

แต่ละองค์กรควรเริ่มปรับตัวให้เข้ากับ Data Economy อย่างไร? การเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ Data-Driven Business เริ่มได้ง่าย ๆ จากการทำความเข้าใจ “Data Maturity” หรือ ระดับการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ เพื่อให้สามารถสำรวจตัวเองได้ว่าตอนนี้เราอยู่ขั้นไหน และควรจะพัฒนาต่อไปอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Data Maturity เปรียบเสมือนเส้นทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูล แบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ ดังนี้

  1. Data Silos เป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขั้นต้น เริ่มจากเล็งเห็นประโยชน์ของข้อมูลและนำไปสู่การเก็บข้อมูล อย่างไรก็ตาม แต่ละแผนกในองค์กรยังคงเก็บข้อมูลแยกกันอยู่ และนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของใครของมัน มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์บ้างเป็นครั้งคราว และจัดทำรายงานในรูปแบบง่าย ๆ เช่น นำข้อมูลยอดขายรายเดือนมาสรุปเป็นภาพรวมผลประกอบการของทั้งปี และสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นต้น
  2. Dashboards Inflation หลังจากที่เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลมากขึ้น ประกอบกับมีเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย องค์กรต่าง ๆ จึงใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้วยการเกาะกระแสสร้าง Dashboard อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่การนำตัวเลขมาแสดงผลเป็นกราฟรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าการวิเคราะห์ผล จึงทำให้มี Dashboard เพิ่มขึ้นในองค์กรเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจที่ได้ผลอย่างแท้จริง
  3. Analytics in Focus การวิเคราะห์ผลที่จะนำไปสู่การตัดสินใจได้นั้น จำเป็นต้องมาจากข้อมูลที่มีคุณภาพ หลายองค์กรจึงขยับไปมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของข้อมูล เพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์ทำความเข้าใจสถานการณ์และช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดมาตรฐาน วิธีการจำแนกประเภทและตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน สอดคล้องกันของข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นมีคุณภาพและน่าเชื่อถือ
  4. Intelligence Insights เมื่อบุคลากรมีความพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระดับที่สูงขึ้น จนหล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนต่างคุ้นเคยกับข้อมูลแล้วนั้น องค์กรสามารถก้าวต่อไปโดยขยายแหล่งข้อมูลให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไปพร้อม ๆ กับการจัดระเบียบมาตรฐานข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้สามารถหาความหมายเชิงลึกและพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจได้ เช่น นำข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้ามาวิเคราะห์ความต้องการ เพื่อสร้างสรรค์และปรับปรุงสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ที่ตรงใจลูกค้าแต่ละกลุ่ม
  5. Transformative Changes เป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระดับสูงสุด องค์กรที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็น Data-Driven Business ได้นั้น ไม่เพียงแค่มีวิสัยทัศน์ในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Artificial Intelligence (AI), Machine Learning (ML), Blockchain, Cloud Computing ฯลฯ เข้ามาดึงศักยภาพของข้อมูลเท่านั้น แต่ยังต้องมีความกล้าที่จะออกนอกกรอบธุรกิจเดิม กล้าที่จะพลิกโฉมธุรกิจไปสู่สินค้า บริการ และประสบการณ์รูปแบบใหม่ ๆ อีกด้วย

เส้นทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขั้นต้นไปสู่ขั้นสูงสุด อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบและคงไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน นอกจากความมุ่งมั่นขององค์กรแล้ว ยังมีอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยผลักดันให้ก้าวไปสู่ขั้นสูงสุดได้เร็วขึ้น นั่นก็คือการนำแนวคิด Data Sharing หรือ การแบ่งปันข้อมูล มาปรับใช้ทั้งในองค์กรและข้ามองค์กร ซึ่งจะช่วยทลายขีดจำกัดเดิมไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่รออยู่ข้างหน้าอีกมากมาย

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย และพร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ Data Economy ต่อไป

วันนี้องค์กรของคุณอยู่ในขั้นใดของ Data Maturity และพร้อมพลิกโฉมไปเป็น Data-Driven Business แล้วหรือยัง ?

ETDA-Data-Sharing-Platforms-Info-graphic-ชนท-2-(1).png

Rating :
Avg: 5 (3 ratings)