TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

“มาตรฐาน AI ไทย” ถ้ามี...ต้องเป็นแบบไหน?  หลากมุมมองจากกูรูตัวจริง!

AIGC Documents
  • 27 มี.ค. 66
  • 2085

“มาตรฐาน AI ไทย” ถ้ามี...ต้องเป็นแบบไหน? หลากมุมมองจากกูรูตัวจริง!

เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เราคุ้นชินในหนังไซไฟ ทั้งเครื่องจักรและ หุ่นยนต์มากมาย วันนี้ไม่ได้อยู่แค่ในจินตนาการอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยี "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ AI ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด อย่างกระแสสุดร้อนที่ทั่วโลกต่างจับตากับ “ChatGPT” เทคโนโลยี AI chatbot สุดล้ำจากบริษัท OpenAI ที่ทำให้วงการ AI สั่นสะเทือนอีกครั้ง ด้วยจุดเด่นที่ตอบและให้ข้อมูลได้ไม่ต่างมนุษย์ที่รอบรู้ ไม่เพียงสร้าง Use case การใช้งานที่เป็นเหมือนคู่คิด ทั้งสะดวก รวดเร็ว แต่ยังสร้าง Impact ให้เกิดขึ้นทั้งในวงการศึกษา การตลาด และลามไปยังวงของนักเขียน จึงทำให้หลายประเทศทั่วโลกผู้นำด้านเทคโนโลยี ก็ต่างเร่งพัฒนามาตรฐาน และหลักธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance) มาเป็นกรอบในการประยุกต์ใช้ AI เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ปลอดภัยตามหลักที่ควรจะเป็นและเป็นที่ยอมรับของสากล

แล้วไทยล่ะ...มาตรฐานของการประยุกต์ใช้ AI อยู่ที่ตรงไหน เราพร้อมหรือยังที่จะต้องมีมาตรฐาน AI ?

อีกโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งหาคำตอบ หากประเทศเราอยากไปถึงเป้าของการเป็นหนึ่งประเทศชั้นนำที่มุ่งพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2570

DSC01263.jpg

ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic หรือ AIGC) นำโดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA จึงถือโอกาสนี้ชวน 3 กูรู จาก 3 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อน AI Governance ไทย ไม่ว่าจะเป็น ดร. กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ดร. อภิวดี ปิยธรรมรงค์ นักวิจัย จาก NECTEC และ คุณกิตติพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง Product Technical Manager จาก British Standard Institution (BSI) มาร่วมพูดคุยพาเราไปหาคำตอบพร้อมกัน ใน AI Governance Webinar 2023 : EP 1.“รู้จักมาตรฐาน ISO ด้าน AI เข้าใจหลักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

ไทยประยุกต์ใช้ AI ดุเดือด ตัวเลขโตต่อเนื่อง

“การใช้ AI ของคนไทยเรียกว่ากระแสดีไม่มีตกจริงๆ เพราะ ผู้ประกอบการ รวมถึงภาครัฐ ต่างตื่นตัว นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ การทำงานและการให้บริการแล้ว กว่า 75% และอยู่ระหว่างการเริ่มทยอยนำมาใช้งาน 25%” นี่คือตัวเลขที่ได้จากผลการศึกษาของ ดร.อภิวดี ที่เล่าให้เราฟัง

สอดคล้องกับ สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ฯ ที่ ดร. กอบกฤตย์ เผยว่า “ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้พัฒนาด้าน AI ที่ตอนนี้ค่อนข้างดุเดือด โดยเฉพาะช่วงที่ กระแสการเข้ามาของ ChatGPT ที่ทำให้ผู้ประกอบการหันกลับมามองและให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ AI มากขึ้น จนส่งผลให้ตัวเลขรายได้ของบริษัท Startup ผู้พัฒนา AI ไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 25% ในปี 2022 และในปี 2023 นี้ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกราว 35% ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมด้านซอฟต์แวร์ ที่เติบโตเฉลี่ยราว 10% ที่สำคัญเติบโตมากกว่า บริษัทด้าน IT ถึง 2.5 เท่า โดยเทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้ในทุกๆ กระบวนการทำงานและการทำธุรกิจโดยเฉพาะ ด้านการเงิน e-KYC (Electronic Know-Your-Customer) ตรวจสอบการยืนยันตัวตน การคำนวณหรือทำนายราคาหุ้น รวมถึง Chatbot ที่ถูกนำมาใช้งานเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยลดต้นทุนให้กับทางผู้ประกอบการ”

DSC01432.jpg

ตลาด AI โต...แต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัด เพราะไม่มีมาตรฐาน AI
“แม้ตลาด AI ค่อนข้างเติบโตในไทย แต่สำหรับ บริษัทผู้พัฒนา AI น้องใหม่ กลับไปต่อยาก” ดร.กอบกฤต เล่าว่า วันนี้เรามีผู้พัฒนา AI ที่เป็นผู้เล่นอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้พัฒนา AI ต่างประเทศ และในไทย ซึ่งในไทย ปัจจุบันมีอยู่ประมาณกว่า 100 บริษัท ที่พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน AI เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เรากลับพบว่า บริษัทผู้พัฒนา AI น้องใหม่ ค่อนข้างมีความยากในการที่จะนำสินค้าและบริการไปตีตลาดแข่งกับบริษัทอื่นๆ เพราะไม่มีมาตรฐานหรือหน่วยงานที่ทดสอบประสิทธิภาพการันตีเทคโนโลยี AI ของพวกเขา ว่าดีจริงหรือไม่อย่างไร หรือแบบไหนที่เหมาะสม จึงทำให้บริษัทด้าน AI หน้าใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าได้ยาก เพราะลูกค้าเอง ก็ไม่รู้ว่าแบบไหนคือดีที่สุด จะตัดสินใจ ดูแค่หลักฐานที่เป็น Paper ที่ผู้พัฒนาแจ้งมาก็ทำไม่ได้ การตัดสินใจซื้อจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

ดร.อภิวดี มองไปในทิศทางเดียวกันว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้ใช้งาน ค่อนข้างมีความต้องการมาตรฐานสูงมาก เพราะปัจจุบันเขากำลังเผชิญกับประเด็นปัญหา เช่น ไม่สามารถรู้ได้ว่าคุณภาพของเทคโนโลยีเท่านี้ ควรที่จะจ่ายด้วยต้นทุนเท่าไหร่ และระบบแบบไหนที่เรียกว่าเหมาะสมกับเขา ซึ่งในมุมของนักวิชาการเราสามารถวัด Performance ของ AI ด้วยตัวเลขบางค่าที่กำหนด แล้วนำมาเทียบประสิทธิภาพ เผยแพร่ออกมาเป็นรายงานวิจัย แต่ในมุมของโลกความเป็นจริง พบว่า ตัวเลขเหล่านี้ ไม่ได้สะท้อนประสิทธิภาพของ AI ในมุมของการใช้งานจริงได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยของ Scenario ที่เรากำหนดหรือตั้งค่า (Setting) ไว้ เช่น เราใช้ ChatGPT กับภาษาอังกฤษ เราเห็นว่ามันมี Performance ที่ดี แต่พอเราเปลี่ยน Setting เป็นภาษาไทย ค่าความถูกต้องก็เปลี่ยนไป เนื่องจากบริบทแตกต่างกัน ถ้าไม่มีมาตรฐานกลางมาเป็นตัวตัดสิน ก็ยากที่ผู้ใช้งานจะตัดสินใจได้ว่า เทคโนโลยีตัวไหนดีหรือเหมาะสมมากกว่ากัน

“เหตุการณ์ที่เจอกับตัวเอง...การใช้งาน Self Driving Car หรือ รถยนต์ไร้คนขับ ที่มีฟังก์ชันช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (Lane Keeping Assist) ที่พอเราเปิด Option นี้ รถก็จะขับเข้าชิดเลนขวาสุด โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บริบทของถนนที่ขับเป็นเลนสวนหรือไม่ ซึ่งค่อนข้างอันตราย ถ้าคนขับไม่รู้วิธีใช้งาน ทั้งหมดนี้ก็เพราะเราไม่มีมาตรฐานทางเทคนิค หรือ Technical Barriers to Trade ที่จะเข้ามาดูแลการนำเทคโนโลยีเข้ามาให้คนไทยใช้งาน ซึ่งหากเรามีมาตรฐานของเราเอง อาจต้องมองประเด็นนี้ด้วย” ดร.อภิวดี แชร์ประสบการณ์เสริม

DSC01362.jpg

ด้าน ดร.ศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากกรณี ChatGPT ที่วันนี้คนหันมาใช้งานจำนวนมาก จนส่งผลกระทบที่ไม่ใช่แค่เพียงผู้พัฒนา หรือผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประชาชนด้วย โดยเฉพาะในภาคการศึกษา ที่เริ่มมีประเด็นถกเถียง ถึงความเหมาะสมและความถูกต้องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน และมาตรการในการรองรับหากเกิดปัญหา...ที่ไทยเราอาจต้องฉุกคิดว่า ตอนนี้ เรา “จะเริ่มหาแนวทางป้องกัน” หรือ “จะรอรับมือกับปัญหาที่อาจจะตามมา”

“มาตรฐาน AI” กลไกสร้างความมั่นใจ เชื่อม AI Ecosystem

มาตรฐานคือความรู้ คือ สิ่งต่างๆ ที่เขาสะสมมาและบอกเราว่า ทำแบบนี้แล้วดี ถ้าไทยเรามีมาตรฐานในมุมของการประยุกต์ใช้งาน AI จะเป็นกลไกที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศน์ทุกกลุ่มเช่น ผู้คิดค้นพัฒนา AI ก็จะรู้ว่า ต้องเขียนซอฟต์แวร์แบบไหน วิเคราะห์ไปในทิศทางใด เพื่อไม่เกิดความเสี่ยงหรือเกิดน้อยที่สุด ที่สำคัญสอดคล้องกับที่มาตรฐานกำหนด ไม่ผิดจริยธรรมที่ควรจะเป็น ขณะที่ผู้ใช้งาน ก็สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้งานเทคโนโลยี AI ที่ได้มาตรฐาน ติดต่อธุรกิจกับต่างชาติได้โดยไม่ถูก Bias และสุดท้ายเมื่อหน่วยงาน Regulator มีเกณฑ์ในการดูแล สามารถตรวจประเมินคุณภาพของเทคโนโลยีได้อย่างโปร่งใส ตามที่มาตรฐานกำหนด คุณกิตติพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐาน AI กล่าว

สอดคล้องกับฝั่งของผู้ประกอบการ อย่าง ดร.กอบกฤตย์ ที่มองว่า การมีมาตรฐาน AI ถือเป็นเรื่องดี เพราะผู้ประกอบการทุกคน อยากให้บริษัทและเทคโนโลยีของตนเองได้มาตรฐานอยู่แล้ว ที่สำคัญยังทำให้เทคโนโลยีที่ไม่ว่าจะพัฒนาจากบริษัทใดก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ เพราะมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งช่วยให้เราประหยัดต้นทุนในการพัฒนาระบบใหม่ด้วย

สอดคล้องกับฝั่งของผู้ประกอบการ อย่าง ดร.กอบกฤตย์ ที่มองว่า การมีมาตรฐาน AI ถือเป็นเรื่องดี เพราะผู้ประกอบการทุกคน อยากให้บริษัทและเทคโนโลยีของตนเองได้มาตรฐานอยู่แล้ว ที่สำคัญยังทำให้เทคโนโลยีที่ไม่ว่าจะพัฒนาจากบริษัทใดก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ เพราะมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งช่วยให้เราประหยัดต้นทุนในการพัฒนาระบบใหม่ด้วย
DSC01443.jpg
ด้าน ดร.อภิวดี เสริมว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มผู้ใช้งาน ผู้พัฒนา และผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศน์ สิ่งที่พบคือ ส่วนใหญ่รู้จัก AI กันแล้ว เราเริ่มมีความเชื่อถือในการใช้งาน AI กันมากขึ้น แต่พอพูดถึงเรื่องมาตรฐาน AI คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้จัก ยังไม่เคยอ่าน หรือยังไม่เคยสัมผัส ซึ่ง AI Webinar ที่ AIGC จัดขึ้นนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้ประเด็นเรื่องมาตรฐาน AI ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ทำให้เราได้ทำความรู้จักมากขึ้น เพราะมาตรฐานคือกลไกที่สร้าง Safety แก่ผู้ใช้งาน พยายามที่จะบอกระดับคุณภาพให้เราได้รู้  และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ มาตรฐานจะทำให้ทุก Stakeholder ที่อยู่ในระบบนิเวศน์ของ AI สามารถเชื่อมโยงพูดคุยเรื่องเดียวกันได้ และหากเราเพิ่มเนื้อหามาตรฐานในมุม AI Literacy ด้วยแล้ว จะยิ่งเป็นประโยชน์กับทั้ง AI ecosystem ด้วย

“มาตรฐาน AI นอกจากช่วยให้คนใช้งานมีความมั่นใจ สามารถเลือกเทคโนโลยีมาใช้งานได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมยกระดับผู้ประกอบการ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบ ที่ทำให้สามารถพัฒนาบริการ AI ที่มีมาตรฐานด้วย ซึ่งในวันที่ AI ไปไกล ไทยเราเริ่มมีแนวทางในการดูแล หากถามว่า ต้องเป็นมาตรฐานหรือกฎหมายเลยไหม เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทไทยมากที่สุด AIGC by ETDA พร้อมด้วย พาร์ทเนอร์ ก็ศึกษาในประเด็นนี้เช่นกัน เราไม่อยากให้เร่งรีบ อยากให้รอบคอบเพื่อให้ตอบโจทย์ Pain point มากที่สุด” ดร.ศักดิ์ สะท้อนมุมมอง

เปิดประเด็นที่ต้อง Focus หากไทยมี “มาตรฐาน AI”
“มาตรฐานจะต้องไม่จำกัด หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของ Start up หรือ ผู้เล่นหน้าใหม่ แต่ต้องเอื้อและส่งเสริมให้พวกเขาไปต่อได้

ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีพื้นที่ให้ผู้พัฒนาหน้าใหม่จะได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยี ไปทดลองใช้งานในวงจำกัดโดยไม่ผิดกฎหมาย เพื่อดูความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่ขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย” ดร.กอบกฤตย์ สะท้อนผ่านมุมมอง Insight ผู้ประกอบการ  

ด้านนักวิชาการ อย่าง ดร.อภิวดี กล่าวว่า สิ่งแรกที่เราต้องให้ความสำคัญ ถ้าเราจะทำมาตรฐาน AI ไทย คือ วันนี้เรามี Hidden Issue อย่างไรบ้าง หากเรารับเทคโนโลยีเข้ามาให้คนไทยใช้งานจะเกิดประเด็นเสี่ยงอย่างไรบ้าง ประเด็นที่สองคือ เราจะต้องมีการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพราะมาตรฐานเป็นเรื่องซับซ้อน กระทบกับคนในวงกว้างความปลอดภัย เชื่อมโยงกับระบบต่างๆ และสุดท้ายคือ กระบวนการในการตรวจสอบรับรองภายใต้มาตรฐาน จะต้องรวดเร็วไม่ล่าช้า ซึ่งเรื่องนี้ในมุมของภาคธุรกิจค่อนข้างให้ความสำคัญมากๆ เพราะหากกระบวนการตรวจสอบล่าช้า ไม่ชัดเจน ก็กระทบต่อการแข่งขันในมุมภาคธุรกิจ

DSC01303.jpg

แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐาน คุณกิตติพงษ์ มองว่า ความยากของการทำมาตรฐาน คือ จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ใน Ecosystem ที่ใช้ เข้าใจและยอมรับ เพราะสำหรับเขาแล้วการร่างมาตรฐานต้องมองในบริบทของประเทศและต้องตอบโจทย์ความต้องการของคนที่เกี่ยวข้องโดยบาลานซ์ทั้งในมุมผู้ใช้งานที่ต้องการบริการที่มีคุณภาพ ขณะที่ผู้ประกอบการ ต้องการต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ไม่ซ้ำซ้อน และหน่วยงานกำกับเอง ก็ต้องการมาตรฐานที่สามารถบังคับใช้ได้จริง สรุปคือ มาตรฐานต้องอยู่ในจุดที่ทุกภาคส่วนรับได้ ไม่ใช่แค่กระดาษที่กำหนดออกมาแต่ทำตามไม่ได้

ขณะที่ ดร.ศักดิ์ มองว่า สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้ คือ การกำหนด Road Map ของมาตรฐาน ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน เรื่องไหนบ้างที่จำเป็น ที่ต้องเร่งกำหนดให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน เพราะวันนี้เทคโนโลยีเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ETDA โดยการดำเนินงานของ AIGC เราจะทำหน้าที่ในการ Coordinate เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดการเร่งผลักดันในเรื่องนี้ พร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน ทั้งผู้พัฒนา AI ผู้ใช้งาน และหน่วยงาน Regulator พร้อมกันนี้ ที่สำคัญต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น เพราะ ETDA เรามองว่า มาตรฐานไม่ว่าใครก็ทำได้ แต่ถ้าไม่มีการนำไปใช้งานจริงก็ไม่มีประโยชน์

DSC01500.jpg
ในวันที่คนไทยคุ้นชินกับการประยุกต์ใช้ AI ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องมาตรฐานไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเราแล้ว แต่กลับเป็นเรื่องที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะ ผู้พัฒนาเทคโนโลยี และผู้ใช้งาน ต่างรอและคาดหวังว่า มาตรฐาน จะเข้ามาทำให้การประยุกต์ใช้ AI  ของพวกเขามีประสิทธิภาพตามหลัก จริยธรรมและธรรมาภิบาล ที่สำคัญเป็นเครื่องการันตีที่ทำให้ไปต่อได้ในระดับสากลได้อย่างไร ท้ายที่สุดแล้ว มาตรฐาน AI ไทยต้องเป็นอย่างไรนั้น? จากการสะท้อนมุมมองผ่านเวที AI Webinar นี้  อาจเป็นหนึ่งคำตอบและเป็นส่วนสำคัญที่จุดประกายการเริ่มต้นที่มองในแง่ของความเป็นจริง ที่ ภาครัฐ และเอกชนจะได้ดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้คนไทยและประเทศได้ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI มากที่สุด
 

Rating :
Avg: 5 (1 ratings)