TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

หยุด การละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์

Digital Citizen Documents
  • 27 ม.ค. 63
  • 7896

หยุด การละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์

รู้หรือไม่ เหตุใดเฟซบุ๊กถึงได้แบน การโพสต์รูปเด็กน้อยกำลังแก้ผ้าอาบน้ำ หรือภาพเด็กที่ไม่ได้ใส่เสื้อผ้าทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม แม้เด็กคนนั้นจะเป็นลูกหลานของผู้โพสต์เองก็ตาม และภาพดังกล่าวก็ดูเหมือนไม่ได้ส่อหรือมีเจตนาไปในทางลามกอนาจารใด ๆ เลย

เนื่องจากในหลายประเทศจริงจังกับเรื่องสื่อลามกอนาจารเด็กมาก ในประเทศไทยเองก็ตื่นตัวในเรื่องนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 24 ปี พ.ศ. 2558 ได้ระบุความหมายของสื่อลามกอนาจารเด็กไว้ว่า สื่อลามกอนาจารเด็ก หมายความว่า วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้ อธิบายแบบเข้าใจง่ายก็คือ หมายถึงวัตถุหรืออะไรก็ตามที่สื่อถึงเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่สื่อไปในทางเพศนั่นเอง

สิ่งที่คาดไม่ถึงบนโลกออนไลน์ อาจนำไปสู่การละเมิด

ภาพถ่ายลูกหลานในอ่างอาบน้ำ ก็อาจมีคนที่มองว่าเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก แม้รูปภาพนั้นจะไม่ได้ส่อไปถึงกิจกรรมทางเพศเลยก็ตาม และผู้ปกครองหรือคนทั่วไปก็เอ็นดูในความน่ารัก แต่ในโลกนี้ ยังมีคนที่มีอาการของโรค Pedophilia เป็นพวก ใคร่เด็ก เห็นเด็กแล้วมีอารมณ์ทางเพศ และ/หรืออยากมีอะไรกับเด็ก รูปที่เราเห็นว่าน่ารัก สำหรับบางคนมันคือรูปภาพลามกที่นำไปใช้ประกอบกิจกรรมทางเพศได้นั่นเอง

สื่อลามกอนาจารเด็กนำไปสู่การละเมิดทางเพศเด็กได้ ด้วยการหลอกให้เด็กถ่ายรูปต่าง ๆ หรือกระทำทางเพศต่อเด็กแล้วถ่ายรูปหรือคลิปวิดีโอไว้ นำไปใช้ส่วนตัว เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายกับพวกที่มีรสนิยมแบบเดียวกัน ทั้งอาจใช้เพื่อเตรียมเด็กอื่น ๆ ให้คล้อยตาม นอกจากนี้เด็กยังอาจถูกนำรูปภาพหรือวิดีโอดังกล่าวมาขู่กรรโชกเพื่อเรียกเงิน หรือหลอกให้มาถูกละเมิดซ้ำอีก ดังนั้น สื่อลามกอนาจารเด็กจึงเป็นภัยต่อเด็กอย่างแท้จริง และเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ ไม่ถ่าย ไม่โพสต์ และไม่สนับสนุน เมื่อพบเห็นยังควรแจ้งเพื่อดำเนินคดีเนื่องจาก การผลิต เผยแพร่ การมีไว้ครอบครอง การจำหน่าย ล้วนเป็นความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเบื้องหลังภาพคือการข่มขืนกระทำชำเราและละเมิดสิทธิเด็ก

ChildOnlineProtectionGuideline1-0_ca-20_crop.jpgดาวน์โหลดอินโฟกราฟิก ได้จาก มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย


เมื่อพบเจอสื่อลามอกนาจารเด็กและ/หรือการละเมิดทางเพศเด็ก จะต้องทำอย่างไร

ขอแยกเป็นสองกรณี คือ

กรณีที่ 1 แจ้งเพื่อลบรูปภาพหรือวิดีโอ คือเราพบเห็นสื่อลามกอนาจารเด็ก แล้วเราต้องการแจ้งเบาะแส โดยที่เราไม่ได้เป็นผู้เสียหายเอง คือเราไม่ใช่บุคคลในภาพหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลในภาพ แต่เห็นว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยอมรับไม่ได้ สามารถแจ้งได้ที่ www.thaihotline.org  โดยส่งข้อมูลเพียง url เท่านั้น เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบแล้วประสานงานเพื่อลบภาพหรือวิดีโอนั้นออกจากอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด ช่วยเหลือเด็กในภาพ

กรณีที่ 2 แจ้งเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด หากเราเป็นบุคคลในภาพหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลในภาพ ให้เก็บหลักฐานตามนี้
  • พรินต์ภาพหน้าจอลงบนกระดาษ ระบุ url ให้ชัดเจน
  • เก็บหรือพริ้นข้อความสนทนา กรณีที่รู้ตัวคนร้ายและเคยมีการพูดคุยกันด้วยข้อความต่าง ๆ
  • หากเคยถูกขู่กรรโชกเงินและเคยโอนเงินไปให้ ให้เก็บหลักฐานการโอนเงินนั้นไว้ด้วย
นำหลักฐานต่าง ๆ เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานอื่น ๆ ที่สามารถให้คำปรึกษาเพิ่มเติมได้
  • หน่วยปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ต่อเด็ก (ไทแคค หรือ TICAC-Thailand Internet Crimes Against Children) ที่เฟซบุ๊ก TICAC2016  
  • กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) http://www.tcsd.in.th/index.php โทร : 0 2142 2556, 0 2142 2557 อีเมล : [email protected]
  • คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต สายด่วน 1599
  • กรมสอบสวนคดีพิเศษ สายด่วน 1202

ความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก

มีดังนี้
  1. ครอบครอง มีโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ส่งต่อ มีโทษ จำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ใช้เพื่อค้าขาย หรือประกอบการค้าขาย โฆษณา จำคุกสามถึงสิบปี ปรับหกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ดังนั้น ควรระมัดระวังการถ่ายรูปหรือวิดีโอเด็กที่อาจสุ่มเสี่ยงกับการนำไปใช้เป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก นำไปสู่วงจรการผลิตสื่อลามกอนาจารเด็ก ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายแล้ว และยังเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ทำให้เด็กตกอยู่ในความเสี่ยงด้วย

รักเด็กต้องไม่ละเมิดเด็ก

Rating :
Avg: 5 (2 ratings)