TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

ETDA พาเปิดเส้นทาง 2 ปี ‘พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์’ ติดสปีดราชการอิเล็กทรอนิกส์...ไปถึงไหน?

Digital Service Documents
  • 08 พ.ค. 68
  • 30

ETDA พาเปิดเส้นทาง 2 ปี ‘พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์’ ติดสปีดราชการอิเล็กทรอนิกส์...ไปถึงไหน?

ในยุคที่โลก รวมถึงประเทศไทย กำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ Digital Adoption & Transformation หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนองค์กร จึงกลายเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะภาครัฐที่ปรับตัวก้าวเข้าสู่ e-Government อย่างเป็นรูปธรรม เป้าหมายไม่ใช่แค่การทำงานที่คล่องตัวขึ้น แต่เพื่อให้การบริการประชาชน สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และสอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคใหม่ พร้อมสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อการพัฒนาดิจิทัลของประเทศในระยะยาว ความก้าวหน้านี้สะท้อนผ่าน ผลสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2024 (UN E-Government Survey 2024) ที่เผยแพร่โดยองค์การสหประชาชาติ พบว่า ไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 52 ของโลก (จากอันดับ 55 ในปี 2022) และรั้งอันดับที่ 15 ของเอเชีย ในด้านการพัฒนา e-Government แม้ยังอยู่ในระดับกลาง ของภูมิภาค แต่ศักยภาพของไทยในการก้าวสู่ระดับสูงกว่ายังคงเปิดกว้างอย่างมาก

ETDA-ภาพประกอบบทความ-3.jpg

เบื้องหลังความก้าวหน้าของความสำเร็จ เริ่มต้นขึ้นหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่วางกรอบสำคัญกำหนด ให้หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนต้องปรับการทำงาน และเปลี่ยนรูปแบบบริการสู่ e-Services ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การทำงานและการให้บริการ มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญโปร่งใส และมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยบริการของรัฐที่เชื่อมโยงกัน โดยมี 4 หน่วยงานสำคัญร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศให้ปลอดภัย น่าเชื่อถือ ใช้งานได้อย่างมั่นใจมากขึ้น บทความนี้ ETDA จะพาทุกคนไปย้อนทามไลน์ เปิดเส้นทาง 2 ปี แห่งความสำเร็จภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้

ETDA-ภาพประกอบบทความ-4.jpg

ย้อนไทม์ไลน์ 2 ปี ระบบ ‘ราชการไทยเป็นดิจิทัล’ แค่ไหน ?”

หลัง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บังคับใช้ ผ่านมากว่า 2 ปี เวลาอาจดูไม่นาน แต่กลับพบว่า ระบบราชการบ้านเรา รุดหน้าเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เริ่มจากการกำหนดให้ราชการทุกภาคส่วน ต้องมี วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับเริ่มต้น คือต้องมีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นการรับ - ส่งเอกสารผ่านอีเมลกลางของหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการให้บริการ e-Services ที่ตอนนี้หน่วยงานราชการเกือบ 100% มีอีเมลที่เป็นช่องทางกลางในการติดต่อสำหรับหน่วยงานภายนอก และประชาชนแล้ว พร้อมขยับสู่ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับมาตรฐานที่ครอบคลุมบริการ ที่มีความซับซ้อนเช่น การยื่นคำขอ การชำระค่าธรรมเนียม การออกใบอนุญาตต่างๆ ที่วันนี้สามารถทำได้ผ่านทางออนไลน์แล้ว ซึ่งไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ แต่ยังเสริมความโปร่งใส ลดความซับซ้อน และช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2567 มีหน่วยงานที่พร้อมออกใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 45 หน่วยงาน กว่า 335 ใบอนุญาต ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐทางออนไลน์ ในรูปแบบ e-Service ได้แล้ว 2,623 บริการ โดยกว่า 84.31% พึงพอใจต่อบริการ e-Service ของรัฐ นี่นับเป็นสัญญาณดีที่ถือเป็นก้าวสำคัญของราชการไทย ที่เปลี่ยนจากบริการแบบเดิมๆ มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น  

ETDA-ภาพประกอบบทความ-5.jpg

Digital ID: กุญแจสำคัญสู่บริการ e-Services ภาครัฐที่ง่ายและปลอดภัย

หนึ่งในกุญแจสำคัญในการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้บริการ e-Services ของภาครัฐมากขึ้น คือการเปลี่ยนวิธีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน จากเดิมที่ต้องเดินทางไปยังหน่วยงาน พร้อมเอกสารมากมาย มาสู่การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Digital ID ที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย Digital ID เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะ "ไขประตู" ไปสู่การบริการ Digital One Stop Services หรือการเชื่อมโยงบริการ ภาครัฐต่าง ๆ ไว้ที่เดียวได้อย่างสมบูรณ์แบบ ปัจจุบันภาครัฐมีระบบยืนยันตัวตนที่เชื่อถือได้อย่าง ThaID ของกรมการปกครอง ซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการพิสูจน์ตัวตนและยืนยันตัวตน ทางออนไลน์เพื่อเข้าใช้บริการต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างปลอดภัย และภาครัฐเองก็สามารถตรวจสอบได้ ว่าผู้เข้าใช้บริการเป็นตัวจริงหรือไม่ ETDA ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ‘ธุรกิจผู้ให้บริการ Digital ID’ ได้วางแนวทางและมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพื่อรับรองความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ Digital ID ให้ประชาชนมั่นใจว่าข้อมูลส่วนตัวจะได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมาย และมาตรฐานกำหนด ผ่านแนวทางการใช้งานที่น่าเชื่อถือ เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของการทำธุรกรรมออนไลน์ เป็นต้น

นอกจากการวางมาตรฐานแล้ว ETDA รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ยังเดินหน้าผลักดัน ส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน Digital ID ตาม “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567” หรือ  Digital ID framework ที่ประสบความสำเร็จ ในการขยายการใช้งาน Digital ID อย่างแพร่หลายมากขึ้นผ่านบริการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น แอปเป๋าตัง มีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน แอป ThaID มียอดผู้ใช้กว่า 22 ล้านคน พร้อมสานต่อสู่ Digital ID framework ระยะที่ 2 (ปี 2568–2570) ที่เร่งเครื่องตั้งเป้าให้เกิดการใช้ Digital ID เชื่อมโยงบริการ e-Services ของภาครัฐ ให้ได้ทั้งหมด เพื่อลดปัญหาการปลอมแปลงตัวบุคคลและการฉ้อโกงออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันภายใต้การผลักดันของ ETDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งเครื่องเชื่อม Digital ID กับ e-Services ของภาครัฐ แล้วกว่า 449 บริการ ก้าวถัดไปของ e-Government กับเป้าการเชื่อมโยง e-Services ให้ไร้รอยต่อผ่านแพลตฟอร์มกลาง

ETDA-ภาพประกอบบทความ-6.jpg

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ตอนนี้ภาครัฐเข้าสู่การปฏิบัติงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับมาตรฐาน ทั้งการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในสำนักงานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ มีการใช้ e-Document ลงลายมือชื่อ ด้วย e-Signature บริหารจัดการงานเอกสารผ่านระบบ e-Saraban พร้อมปรับบริการแก่ประชาชนด้วยระบบ e-Services ที่เชื่อมโยง Digital ID มาช่วยพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการเพื่อให้การดำเนินงาน เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็วมากขึ้น แต่เป้าหมายของภาครัฐไม่ได้หยุดเท่านี้ เพราะหากจะก้าวสู่การเป็น ราชการอิเล็กทรอนิกส์ ให้ได้สำเร็จหน่วยงานที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ทั้ง กพร. DGA กระทรวง ดีอี รวมถึง ETDA เอง ต่างเห็นตรงกันว่า ควรเร่งสปีดให้ e-Services เชื่อมต่อและเชื่อมโยงกัน เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างไร้รอยต่อ และสะดวกมากที่สุด ซึ่งในปี 2568 นี้ ภาครัฐมีแผนจะเชื่อมโยงบริการ e-Services ทั้งหมดเข้าด้วยกันผ่าน ‘แพลตฟอร์มกลาง’ ที่จะรวมทุกบริการภาครัฐ ซึ่งตอนนี้มีแพลตฟอร์มกลางสำหรับการให้บริการ e-Services ภาครัฐอยู่ด้วยกัน 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ ระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal), ระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) เพื่อให้บริการด้านการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาต และเอกสารต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์, ระบบศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Government Data Exchange: GDX) ระบบศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลและทะเบียนดิจิทัลระหว่างหน่วยงานของรัฐ, ระบบการบริการเชื่อมโยง ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ หรือ NSW และทาง www.data.go.th ซึ่งทุกแพลตฟอร์ม ประชาชน เอกชน ภาคธุรกิจ จะสามารถเข้าใช้บริการได้ด้วยการใช้ Digital ID เพื่อเข้าถึงข้อมูล และบริการต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขอรับบริการ และยังสามารถเข้าถึงบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย โดยภายในปี 2570 นี้คาดว่าจะสามารถเชื่อมโยง e-Services ภาครัฐเข้าสู่แพลตฟอร์มกลาง เหล่านี้ได้สำเร็จไม่น้อยกว่า 1,352 บริการ

ETDA-ภาพประกอบบทความ-7.jpg

จากจุดเริ่มต้นของ ‘พ.ร.บ.การปฏิบัติงานราชการทางอิเล็กทรอนิกส์’ สู่การยกระดับภาครัฐไทย เข้าสู่ยุคดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการอัปเกรดระบบราชการสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่คือการวางรากฐานประเทศให้พร้อมเดินหน้าในโลกอนาคต ที่ทุกบริการต้องรวดเร็ว โปร่งใส และเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อให้ “ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล” เกิดขึ้นจริงกับคนไทยทุกคน ติดตามข้อมูลข่าวสาร และเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับดิจิทัล ที่จะช่วยให้คนไทยมั่นใจ ปลอดภัย กับการใช้ชีวิตดิจิทัลมากขึ้น ไปด้วยกันกับทุกช่องทางของ ETDA Thailand

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)