AIGC
- 27 ก.พ. 67
-
785
-
ETDA พาเปิดหลากมุมที่ต้องมอง เมื่อ AI ก้าวสู่วงการศิลปะ และความบันเทิงแบบเต็มตัว…จะปรับตัวอย่างไร ไม่ให้ถูกทำลายอย่างประณีต
ถือเป็นยุครุ่งเรืองของ AI เทคโนโลยีที่พาเราก้าวข้ามขีดจำกัดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อีกทั้งยังช่วยเปิดโลกใบใหม่ หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยคิดว่า คงมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ แต่วันนี้กลับมีเพื่อนคนเก่งอย่าง AI ช่วยคิด ช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะ “วงการศิลปะ คอนเทนต์ และความบันเทิง” ที่ AI ถูกนำมาช่วยครีเอท สร้างสรรคผลงาน จนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปแทบทุกวงการ
แต่ภายใต้ความล้ำก็เกิดคำถามขึ้นมามากมายว่า ความอัจฉริยะของ AI กำลังจะล้ำเส้นและลดทอนคุณค่าผลงานจากฝีมือมนุษย์ และอาจช่วงชิงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานที่สร้างไปด้วยหรือไม่ ประเด็นสุดฮอตเหล่านี้ ประเด็นสุดฮอตเหล่านี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) หน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยมีความตระหนักและนำ AI ไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสม ไม่พลาดที่จะเปิดพื้นที่ชวนผู้ใช้ AI ในการสร้างสรรค์ผลงานตัวจริง ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น คุณพิลาวัลย์ บัวงาม รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่นำ AI มาเปิดมิติใหม่ให้วงการทีวีไทย ผ่านรายการ Face off แฝดคนละฝา ที่นำเทคโนโลยี AI Deepfake มาสร้างทั้งภาพและเสียงให้ดูเหมือนจริงจนแทบแยกไม่ออก คุณนภัสรพี อภัยวงศ์ ศิลปินที่ใช้ AI ช่วยสร้างสรรค์ผลงานและเจ้าของนิทรรศการภาพถ่ายด้วย AI ‘Resonances of the Concealed’ คุณศิรพัทธ์ วัชราภัย ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสุดท้าย คุณธิติกร ตระกูลศิริศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance Clinic by ETDA (AIGC) มานั่งจับเข้าคุย เจาะลึกมุมมอง ใน ETDA LIVE กับซีรีส์ใหม่แกะกล่องต้อนรับต้นปี 2024 อย่าง DIGITRIBE ที่ประเดิม EP. แรกกับหัวข้อ “เจาะอินไซต์ AI ในยุคเติมเต็มงานศิลป์ ใช้อย่างไรไม่ให้ถูกทำลายอย่างประณีต” ที่เพิ่งจัดไปเมื่อเร็วๆ นี้ มีประเด็นไหนน่าสนใจ วันนี้เราสรุปมาให้แล้ว
AI คือสิ่งแปลกใหม่ ที่ต้อง “เร็ว” ที่จะ “เรียนรู้”
จากความฉลาดล้ำแบบฉุดไม่อยู่ ที่มาพร้อมความสามารถที่หลากหลายของ AI ทำให้เหล่า Creator ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ต่างเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาช่วยในการผลิตผลงานศิลป์กันมากขึ้น อย่าง รายการ Face off แฝดคนละฝา รายการเกมโชว์สุดแหวกที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นานแต่โกยเรตติ้งและเป็น Viral ตั้งแต่ EP แรกที่ออกอากาศที่ได้ทดลองนำเทคโนโลยี AI Deepfake มาใช้ในการเปลี่ยนภาพและเสียงของบุคคลในวีดิโอให้เหมือนแขกรับเชิญในรายการ ซึ่งผู้ที่อยู่เบื่องหลังของรายการนี้ เปิดเผยว่า กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นรายการอย่างที่เราๆ ได้ดูนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทีมงานต้องลองผิดลองถูก พยายามเรียนรู้ศักยภาพของ AI และใช้เวลาเตรียมการนานถึง 1 ปีเลยที่เดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องยากและท้าทายของทีมผลิตรายการอย่างมาก ที่ต้องทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ให้ได้ผลงานที่ออกมาดีและเร็วที่สุด เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ ซึ่งการนำ AI มาใช้ในรายการครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ให้วงการทีวีไทย ไม่ต่างจากของฝั่งศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายจาก AI ที่เริ่มต้นใช้ AI ในการสร้างสรรค์ภาพถ่าย เพราะกล้องถ่ายภาพตัวโปรดเริ่มพัง ประกอบกับช่วงนั้นกระแสของ Midjourney AI อีกหนึ่งประเภทของเทคโนโลยี AI ที่เข้ามาช่วย Generate ภาพให้น่าสนใจผ่านการป้อนคำสั่ง ได้กลายเป็นประเด็นที่เหล่าศิลปินต่างพูดถึงและเริ่มมีการใช้งานกันมากขึ้น ในฐานะศิลปินที่ต้องคอยอัปเดตให้ทันการเปลี่ยนแปลง จึงหันมาทดลองใช้งาน AI แล้วก็ได้พบกับความน่าทึ่ง เพราะ AI สามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของเจ้าของผลงานศิลป์ ที่เป็นคน Generate ผลงานนั้นๆ ได้ออกมาค่อนข้างง่ายและชัดเจนกว่าเครื่องมืออื่นๆ ที่สำคัญ สามารถลดข้อจำกัดบางอย่างที่กล้องถ่ายภาพ ไม่สามารถทำได้ แต่ AI กลับตอบโจทย์ได้ดีอีกด้วย จึงใช้ AI ในการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายออกมาอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่การจัดนิทรรศการภาพถ่ายด้วย AI ที่ชื่อว่า ‘Resonances of the Concealed’ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
แม้ AI จะเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างลงตัว ภายในเวลาอันรวดเร็วนี้ แต่ในมุมของคนเสพงานศิลป์เองกลับมีคำถามว่า ภาพถ่ายที่ถูกสร้างโดย AI ยังเรียกว่าเป็นภาพถ่ายที่ถือเป็นงานศิลปะได้อยู่หรือไม่ ในมุมผู้สร้างสรรค์ผลงานเองต่าง มองว่า วันนี้อาจเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เพราะเทคโนโลยีและศิลปะยังมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งผลงานศิลป์ที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นนั้นจะมีคุณค่า ที่เรียกว่างานศิลปะได้หรือไม่ อาจขึ้นอยู่กับการตีความและการให้ค่าของแต่ละคน
AI ใคร ๆ ก็มีสิทธิ์ใช้ แล้วงานสร้างสรรค์ที่ได้ใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์?
เมื่อ AI ล้ำไปถึงขั้นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ อีกประเด็นระดับโลกที่เรียกว่า ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือ แล้วลิขสิทธิ์จะเป็นของใคร ถ้าผลงานจาก AI ไปละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น ใครต้องรับผิดชอบ เพราะ AI ไม่ว่าใครก็ใช้ได้ทั้งนั้น จากการพูดคุยทำให้ทราบว่า จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายของประเทศใดออกมาห้ามการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในผลงานที่สร้างโดย AI แบบชัดๆ แต่หลายประเทศก็เห็นตรงกันว่า “ลิขสิทธิ์” ควรปกป้องความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ไม่ใช่การ Generate ของ AI ดังนั้น ผลงานที่สร้างโดย AI ที่อาจจะไปแข่งขันกับงานที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงไม่ควรได้รับความคุ้มครอง เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีการปฏิเสธความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่ผลงานที่ถูกสร้างโดย AI เนื่องจากขาดคุณสมบัติ “การถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์” (Human Authorship) แต่ขณะเดียวกัน ก็มีบางประเทศที่แสดงท่าทียอมรับและได้ตรากฎหมายยินยอมให้ผู้พัฒนา AI ได้รับการคุ้มครองในฐานะ “ผู้สร้างสรรค์” เช่น นิวซีแลนด์ อินเดีย และสหราชอาณาจักร หรือ ออสเตรเลีย ที่ได้อนุญาตให้ AI ยอดนักประดิษฐ์ อย่าง DABUS สามารถขึ้นทะเบียนเป็น “ผู้คิดค้น” สิ่งประดิษฐ์ได้ ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรเทียบเท่ากับมนุษย์ เช่นเดียวกับ แอฟริกาใต้ ที่มีการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรระบบบรรจุอาหารว่า มี DABUS เป็นหนึ่งในผู้ร่วมคิดค้น ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญและสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของความเป็นไปได้ที่ว่า ต่อไปไม่แน่เราอาจเห็น AI เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานหลายๆ ชิ้นก็ได้
แล้วประเทศไทยล่ะ มีความเป็นไปได้ไหมที่ AI จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้ปูพื้นทำความเข้าใจในประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ว่า ลิขสิทธิ์จะมอบให้งานที่แสดงออกถึงไอเดีย เช่น งานวรรณกรรม งานเขียน นิยาย ภาพถ่าย ภาพศิลปกรรม ซึ่งงานเหล่านี้ต่างนำ AI มาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างแพร่หลาย ทั้งการวางจำหน่าย การจัดนิทรรศการ การสร้างผลงานที่ทำให้เกิด Viral ในสังคม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ หลักการของลิขสิทธิ์ คือ จะให้การคุ้มครองผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานต้นฉบับขึ้นด้วยตนเอง (Originality) โดยไม่ได้ดูที่คุณค่า ความสวยงาม ความนิยม หรือความเก่า-ใหม่ แต่จะดูแค่ว่าใครเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็น “คนแรก” และ “ครั้งแรก” กฎหมายลิขสิทธิ์จะให้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นในการควบคุม ทำซ้ำ แจกจ่าย รวมถึงขาย ทันที และเฉพาะผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากผู้สร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น ทั้งนี้ ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ขึ้นชื่อว่า สิทธิ์ แล้ว ผู้ที่จะมีสิทธิ์ได้ก็คือ “มนุษย์” ดังนั้น กฎหมายลิขสิทธิ์จึงมีผลเฉพาะกับผลงานที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์เท่านั้น ถ้า AI ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา คนที่จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ก็คือคนที่ทำ ที่อยู่ในกระบวนการของงานชิ้นนั้น เพราะ AI ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต จึงไม่สามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และถ้าผลงานจาก AI เกิดละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น คนที่ต้องรับผิดชอบ ก็คือ คนที่สร้าง ซึ่งอีกประเด็นที่เราเองก็อาจยังไม่รู้ คือ ลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน ลิขสิทธิ์ เกิดขึ้นทันทีที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา
เปิดใจยอมรับแค่ไหนหากผลงาน AI จะมีลิขสิทธิ์
ในมุมของผู้สร้างสรรค์ผลงานเอง ต่างให้ความเห็นว่า ไม่ว่าจะสร้างสรรค์ผลงานด้วยอะไร ลิขสิทธิ์ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถึงแม้ภาพที่ AI สร้างออกมาจะดูสวยงามน่าทึ่ง แต่ AI ก็ยังคงเป็นแค่เครื่องมือที่ศิลปินเป็นคนควบคุมอยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่ต่างจากศิลปะแขนงอื่นๆ ที่มีจุดเริ่มต้นการสร้างสรรค์ผลงานมาจากศิลปินที่เป็นคน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานนี้ ก็ควรเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ และแม้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์ผลงานที่สร้างขึ้นโดย AI หรือการป้องกันการละเมิดจาก AI จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็ลงความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กฎหมายไทยในปัจจุบันยังกว้างพอที่จะดูแลเรื่อง AI ทั้งในมุมของการสร้างสรรค์ผลงานโดย AIเอง และในกรณีที่ AI ไปละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของผู้อื่นได้ แต่ในอนาคตหากจะมีอะไรเปลี่ยนไป เช่น ผลงานจาก AI ถึงเวลาแล้วที่จะมีลิขสิทธิ์ ต่างก็มองว่า เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ เพื่อนำไปปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น
จริงไหม? ศิลปะจาก AI ลดทอนคุณค่างานที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์
เพราะกว่าจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมาแต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้งประสบการณ์ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การฝึกฝน หรือแม้แต่พรสวรรค์มากมาย จึงไม่แปลกที่งานศิลปะจะได้รับการยอมรับว่าเป็นงานที่มีคุณค่า แต่เมื่อ AI ก็สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาได้ไม่ต่างจากศิลปิน ที่สำคัญไม่ต้องสะสมประสบการณ์ ไม่ต้องอาศัยแรงบันดาลใจใดๆ ไม่ต้องมีความสามารถทางศิลปะก็ทำได้ แถมยังใช้เวลาเพียงน้อยนิด สังคม จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้า AI ทำได้ขนาดนี้ แล้วผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์จะถูกลดทอนคุณค่าลงไปหรือไม่ และงานศิลปะจาก AI จะถูกมองว่าเป็น Fast Art หรือไม่ เรื่องนี้ ทุกคนต่างให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า AI คงไม่สามารถไปลดทอนคุณค่าของงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากฝีมือมนุษย์ได้ ส่วนผลงานที่สร้างสรรค์จาก AI จะถูกมองว่าเป็น Fast Art ตามรอย Fast Fashion หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและบริบทของการนำไปใช้ว่า จะใช้ทำอะไร ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ถ้าผลงานที่สร้างสรรค์จาก AI สามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่คนอยากได้ ทั้งง่ายกว่า เร็วกว่า ประหยัดกว่า ก็ย่อมได้รับความนิยม ส่วนการจะตัดสินว่าผลงานชิ้นนั้นมีคุณค่าหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นให้คุณค่ากับอะไร พร้อมย้ำตรงกันว่า AI ก็เป็นเพียงเครื่องมือรูปแบบหนึ่งที่ช่วยสร้างสรรค์ ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นและ AI ไม่ได้น่ากลัว แต่การใช้ AI อย่างอิสระ ไม่มีขอบเขต ขาดจิตสำนึกรับผิดชอบหรือขาดการควบคุม
ที่ดีพอต่างหากที่ทำให้ AI น่ากลัว
AI เป็นผู้ช่วย หรือ ผู้ร้าย ที่จะมาทำลายอย่างประณีต
ท้ายที่สุดแล้วการจะตัดสินแบบฟันธงไปเลยว่า “AI ดี หรือ ร้าย” จะช่วย หรือ จะทำลาย นั้น คงไม่สามารถทำได้ เพราะ AI เปรียบเหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน อยู่ที่การเลือกหยิบนำมาใช้ ว่าจะใช้ในทิศทางใด และเราคงไม่อาจหนีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ สิ่งที่ทำได้คือ ยอมรับ เรียนรู้ เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่า AI จะเก่งจะฉลาดแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องถูกควบคุมโดยมนุษย์ ดังนั้น การใช้ AI อย่างไม่เกินขอบเขต จนก่อความเดือดร้อน สร้างผลกระทบ หรือทำร้ายใคร จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องนำ AI ไปใช้อย่างมีจิตสำนึก มีจริยธรรม และมีความรับผิดชอบร่วมกัน
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจาก AIGC สรุปปิดท้ายได้อย่างน่าสนใจว่า
“แม้ตอนนี้จะยังตอบไม่ได้แน่ชัดว่า Generative AI จะส่งผลกระทบแค่ไหนในอนาคตบ้าง เนื่องจากทุกอย่าง ยังใหม่ไปหมด ถึงเวลาที่ควรมีมาตรการเข้าไปกำกับ AI ได้แล้วหรือยัง? สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่ายังไม่ควร เพราะการตื่นกลัวมากจนเกินไป อาจทำให้เสียโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพราะนี่ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น และเทคโนโลยี AI ยังพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง การไปตั้งแง่ จำกัดการใช้ตั้งแต่วันนี้อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะเท่ากับเป็นการจำกัดเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาไปได้อีกไกลมาก”
สำหรับใครที่สนใจ สามารถรับชม ETDA LIVE (DIGITRIBE) หัวข้อ “เจาะอินไซต์ AI ในยุคเติมเต็มงานศิลป์ ใช้อย่างไรไม่ให้ถูกทำลายอย่างประณีต” ฉบับเต็มๆ ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand ที่ลิงก์
https://bit.ly/3ORkWIC