TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ไปก่อน ไม่รอแล้วนะ ถอดบทเรียนการพัฒนา Digital ID จากทั่วโลก

Digital Service Documents
  • 05 ก.ค. 62
  • 1419

ไปก่อน ไม่รอแล้วนะ ถอดบทเรียนการพัฒนา Digital ID จากทั่วโลก

เพราะ "ดิจิทัลไอดี" เป็นระบบที่จะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างผลผูกพันทางกฎหมายกับธุรกรรมที่เกิดขึ้นผ่านทางออนไลน์ได้ อีกทั้งยังจะช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความสะดวก ลดความเสี่ยงในการฉ้อโกง และสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงบริการทางออนไลน์ เวที “1ST THAILAND DIGITAL ID SYMPOSIUM 2019” จึงได้เชิญเบื้องหลังผู้ผลักดันดิจิทัลไอดีจากชาติต่าง ๆ ว่าเขาใช้ดิจิทัลไอดีให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

ตามไปอ่านกันดีกว่า ว่าแต่ละประเทศที่การพัฒนาเรื่องดิจิทัลไอดีเขารุดหน้ากันไปแล้ว ทำกันอย่างไร

TDID-QUOTE_190628_0009(3).jpg

เอสโตเนีย กับเกือบ 20 ปีของประชาชนในการใช้ Digital พิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อเข้าถึงทุกบริการออนไลน์ โดยไม่ต้องใช้เอกสารอีกต่อไป 

เอสโตเนีย เป็นประเทศที่มีคนเพียงประมาณ 1.3 ล้านคน โดยรัฐบาลของที่นี่ สามารถปรับรูปแบบการให้บริการของรัฐมาเป็นบริการดิจิทัลและออนไลน์แล้ว 99% ของการบริการภาครัฐทั้งหมด ยกเว้นในบางเรื่องที่ยังไม่ได้มีแผนเปิดให้บริการ เช่น การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนหย่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

รัฐบาลของประเทศเอสโตเนีย ได้ออกบัตรประชาชนในรูปแบบสมาร์ตการ์ด เรียกว่า e-ID ให้ชาวเอสโตเนียทุกคน เพื่อทำธุรกรรมออนไลน์กับทั้งภาครัฐและเอกชนได้เกือบทุกประเภท ซึ่งในสมาร์ตการ์ดมีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) จากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์กลางของรัฐบาลมาตั้งแต่เริ่มโครงการเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน เอสโตเนีย ได้พัฒนารูปแบบดิจิทัลไอดี เพิ่มเติมจากสมาร์ตการ์ด มาใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ เรียกว่า Mobile ID และสมาร์ตโฟนเรียกว่า Smart ID เป็นสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตนร่วมกับสมาร์ตการ์ด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการใช้งานรวมกันทั้งสองรูปแบบนี้ กว่า 30% โดยมีระดับความน่าเชื่อถือในระดับ “สูง” ตามกรอบมาตรฐานของกลุ่มสหภาพยุโรป eIDAS (electronic IDentification, Authentication and trust Services) ในเรื่องดิจิทัลไอดี

สำหรับตัวอย่างการใช้งานบริการภาครัฐในแบบออนไลน์ เช่น

  1. I-Vote ระบบเลือกตั้งออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2548 ที่มีประชาชนเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์เพียง 2% แต่ในปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 50%
  2. อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ที่เน้นความง่าย สะดวก และรวดเร็ว เช่น ใช้เวลาเพียง 18 นาทีในการจัดตั้งบริษัท และในปี 2563 การเสียภาษีผ่านระบบออนไลน์จะมีการประมวลผลข้อมูลรายงานการเสียภาษี โดยประชาชนไม่ต้องกรอกข้อมูล แต่ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนยืนยันการเสียภาษี
  3. รองรับการเปลี่ยนภูมิลำเนา ชื่อ คำนำหน้าแสดงสถานะการสมรสของประชาชน โดยรวมพัฒนาบริการกับบริษัท Startup ภายในประเทศของเอสโตเนีย พัฒนาระบบรองรับการเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวในฐานข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐ โดยอัตโนมัติ แบบไม่ต้องยื่นขอเปลี่ยนหรือขอเอกสารหรือบัตรใหม่อีก
ทั้งนี้ จากบทเรียนของเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลในระบบ e-ID ที่ได้เป็นช่องโหว่ (Vulnerability) ของ Chip ในบัตรสมาร์ตการ์ดที่พบโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Masaryk ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับมือได้ร่วมกับบริษัทผลิต ระบุขอบเขตของจำนวนบัตรของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และระงับการใช้งานบัตรสมาร์ตการ์ดที่มีช่องโหว่ รวมถึงให้ประชาชนเจ้าของบัตรที่อยู่ในกลุ่มที่มีช่องโหว่ตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่าน แล้วจึงดำเนินการออกบัตรใหม่ให้ โดยทั้งหมดใช้เวลาดำเนินการภายในระยะเวลาประมาณ 60 วันตั้งแต่ได้รับรายงานช่องโหว่

นอกจากนี้ ประเทศเอสโตเนียได้มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้สำหรับการตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของการลงทะเบียนและข้อมูลของรัฐบางส่วน แต่ไม่จัดเก็บข้อมูลด้วยบล็อกเชน และขณะนี้กำลังมีการทดลอง เรื่อง พาหนะสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง การขนส่งโดยหุ่นยนต์แบบ door to door และการนำ AI มาใช้ในภาครัฐ

ข้อแนะนำสำหรับประเทศไทย คือ ควรตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้สามารถยืนยันตัวตนได้ในวงกว้าง ซึ่งคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตกันกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันอยู่แล้ว และ สมาร์ตโฟน คือโอกาสในการพัฒนาดิจิทัลไอดีบนพื้นฐานของสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่

TDID-QUOTE_190628_0005(2).jpg


สิงคโปร์ กับ Smart Citizens และก้าวต่อไปในการพัฒนาระบบบนโทรศัพท์มือถือหรือ MOBILE I

สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีบริการ Singapore Personal Access (SingPass) เป็นดิจิทัลไอดี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐได้ ซึ่งในช่วงแรกใช้ Username ร่วมกับพาสเวิร์ด และ OTP เป็นสิ่งที่ใช้ในการยืนยันตัวตนและให้บริการมาแล้วกว่า 20 ปี และอยู่ระหว่างการขยายเพื่อต่อยอดบริการดังกล่าวไปสู่ SingPass Mobile ทำให้ประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบ SingPass ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้วย Biometric หรือ รหัส 6 หลัก โดยผู้ใช้งานไม่ต้องกรอกพาสเวิร์ดอีกต่อไป ทั้งนี้ มีกฎหมาย คือ National Registration Act 1965 รองรับการทำงานของดิจิทัลไอดี ในส่วน issuance process

SingPass Mobile ได้เปิดให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนใช้เพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้งานสำหรับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางออนไลน์ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถยืนยันและให้ความยินยอมผ่าน SingPass Mobile ซึ่งบริการภายใต้ระบบ National Digital Identity (NDI) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านดิจิทัลของประเทศ และมีบริการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลไอดี เช่น
  • SingPass เป็นบริการดิจิทัลไอดีของสิงคโปร์
  • MyInfo เป็นบริการฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่อยู่กับหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้จากจุดเดียว
  • บริการลายมือชื่อดิจิทัล D-sign และการตรวจสอบลายมือชื่อ ซึ่งยึดเทคโนโลยี PKI และ
  • บริการตรวจสอบ Biometric เช่น Facial Recognition 
สิงคโปร์อยู่ระหว่างการขยายเพื่อเปิดให้บริการดิจิทัลไอดีกับนิติบุคคลแก่ภาคธุรกิจในรูปแบบ CorpPass ภายใต้เป้าหมาย “one digital id, any digital services” โดยคาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2563 ทั้งนี้ ระบบ NDI จะทำให้ประชาชนเข้าถึงและจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของตนสำหรับธุรกรรมระหว่างองค์กรได้อย่างสะดวกและมั่นคงปลอดภัย

รัฐบาลได้ใช้กลยุทธ์ B2B2C ที่รัฐทำหน้าที่เป็น Enabler หรือ Connector (Facilitator) โดยสร้างโครงสร้างบริการด้านดิจิทัลพื้นฐานให้ภาคธุรกิจและหน่วยงานของรัฐสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อยืนยันตัวตนกับลูกค้าได้ผ่านดิจิทัลไอดี และเปิดให้นักพัฒนา ตลอดจนทุกภาคส่วนในระบบนิเวศดิจิทัล สามารถเข้าถึง API ได้ (NDI API) และมี Sandbox เพื่อให้มีการทดสอบและติดตามการประยุกต์ใช้งาน

สำหรับตัวอย่างบริการสำคัญ เช่น MyInfo นั้น ผู้ใช้งานสามารถเข้าสู่ระบบด้วย SingPass Mobile และสามารถแชร์ข้อมูลของตนได้ โดยเริ่มใช้ในกลุ่มธุรกิจการเงิน นอกจากนั้น MyInfo ยังสามารถใช้กับภาคธุรกิจที่ต้องการทำ KYC ได้ เช่น GrabPay หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับบริการบัตรกดเงินหรือบัตรเครดิตอื่น ๆ ซึ่งช่วยลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนและการใช้เอกสารแบบกระดาษ และยังมีข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐเป็นคนให้บริการที่รองรับการทำงานของภาคธุรกิจ

นอกจาก SingPass Mobile จะมีการขยายการใช้งานกับบริการอื่น ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต เช่น
  • ใช้กรณีที่ต้องแลกบัตรเข้าตึก ผู้ใช้สามารถให้ข้อมูลผ่าน App SingPass โดย Scan QR Code เพื่อส่งข้อมูล โดยไม่ต้องจัดเก็บ Physical ID
  • Digital Signing รองรับการลงลายมือชื่อดิจิทัลโดยใช้ credential ในโทรศัพท์ ที่สอดคล้องตาม Electronic Transaction Act
  • การใช้ Facial Recognition ในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ
โครงการต่าง ๆ เป็นความพยายามในการปรับบริการของภาครัฐและเอกชนให้เป็นธุรกรรมออนไลน์ โดยรัฐเป็นผู้วางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านดิจิทัลไอดี และข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน เพื่อความสะดวก มั่นคงปลอดภัย และลดความซ้ำซ้อนของการทำธุรกรรมออนไลน์

TDID-QUOTE_190628_0008(2).jpg

อินเดีย ออกแบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลด้วยข้อมูลชีวมาตร (Biometric) เพื่อรองรับการจัดการข้อมูลประชากรถึง 1,200 ล้านคน

อินเดีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,200 ล้านคน และมีภาษาทางการถึง 22 ภาษาและภาษาท้องถิ่นอีกกว่า 600 ภาษา ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีข้อมูลในระบบของภาครัฐ นำมาสู่โปรเจกต์ AADHAAR ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเอาชนะความหลากหลายของคนในประเทศและเพื่อบริหารจัดการข้อมูลของประชากร

ที่ผ่านมา การที่ไม่สามารถระบุตัวตนของประชากรในอินเดีย ทำให้ภาครัฐไม่สามารถส่งความช่วยเหลือถึงประชากรในถิ่นทุรกันดารที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ดังนั้นการสร้างระบบที่ทำให้ประชากรสามารถพิสูจน์ความมีตัวตนอยู่ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลส่งความช่วยเหลือไปถึงประชาชนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านสาธารณสุข ทุนการศึกษา หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ภาครัฐมีให้ ด้วยดิจิทัลไอดี 

AADHAAR ระบุตัวตนของบุคคลโดยใช้ 3 สิ่งที่ในการระบุตัวตน ได้แก่ (1) ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อจริง ที่อยู่ เพศ อีเมล หรือเบอร์โทร. (2) รูปถ่ายใบหน้า และ (3) Biometric นำมาผ่านอัลกอริทึมเพื่อให้ได้ดิจิทัลไอดี ซึ่งประชาชนในประเทศ สามารถนำดิจิทัลไอดีที่ตนลงทะเบียนไว้ เข้าถึงบริการของภาครัฐ โดยทำการยืนยันตัวตนด้วยระบบดิจิทัลที่มีภาครัฐจัดเตรียมให้ เช่น การโอนเงินด้วยการใช้ AADHAAR ID, digital lock, eSign service

ทาง AADHAAR มีทีมพัฒนาระบบไม่ถึง 10 คน พัฒนาระบบด้วยซอฟต์แวร์ในลักษณะเปิด (Opensource) ที่มี และใช้ความร่วมมือการบริษัทเอกชน หรือนักลงทุนในท้องถิ่นเพื่อขยายผลในการลงทะเบียนประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงระบบ โดยนักพัฒนาท้องถิ่นหรือบริษัทเอกชนผู้สนใจสามารถพัฒนาดีไวซ์ หรือแอปพลิเคชัน ให้ผ่านมาตรฐานตามที่ AADHAAR วางไว้ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับแพลตฟอร์ม AADHAAR

ด้วยวิธีการนี้ทำให้การลงทะเบียนประชากร และทำให้ประชากรเข้าถึงบริการภาครัฐประสบความสำเร็จได้อย่างเกินคาด

TDID-QUOTE_190628_0014(2).jpg

มาเลเซีย ประเทศที่มีการลงทุนอย่างมากในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพราะเล็งเห็นว่ามีความสำคัญไม่แพ้โครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ ในการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล​ 


มาเลเซีย เป็นอีกประเทศที่ใช้ National ID ตั้งแต่ปี 2492 ซึ่งยังเป็นช่วงที่ประเทศยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักร อีกทั้งมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับ National ID (National Registration Act) ในปี 2502 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทะเบียน (Register) การออกหมายเลขประจำตัวประชาชน (Issue) การดูแล (Maintain) และการบังคับใช้หมายเลขประจำตัวประชาชน (Enforce) โดยเริ่มใช้งานบัตรประจำตัวประชาชนตั้งแต่ปี 2521

รูปแบบล่าสุดที่ใช้ในปัจจุบันคือรูปแบบที่ประกาศใช้ในปี 2555 หรือที่เรียกว่าบัตร MyKad ซึ่งอยู่ในรูปแบบสมาร์ตการ์ด ทั้งนี้มาเลเซียเริ่มใช้บัตรประชาชนในรูปแบบสมาร์ตการ์ดตั้งแต่ปี 2544 โดยมีการบรรจุข้อมูลส่วนตัวของประชาชนบนชิปของบัตร รวมถึงใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certificate) ซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนได้มีนำไปใช้มากมายในการทำธุรกรรมที่เคาน์เตอร์ (Over the counter services) โดยในกระบวนการใช้งานอาจจะมีหรือไม่มีการตรวจ Biometric ของเจ้าของบัตร ทั้งนี้แล้วแต่รูปแบบการยืนยันตัวตนของแต่ละหน่วยงาน

การใช้บัตรประจำตัวประชาชนถือว่าเป็นรูปแบบมาตรฐานที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในการทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ แต่ในการทำธุรกรรมออนไลน์ ยังไม่มีมาตรฐานหรือรูปแบบที่น่าเชื่อถือเพียงพอ แม้ว่าปัจจุบันเราใช้ ID จากหลายแหล่ง เช่น Apple ID, Facebook ID, Google ID แต่การใช้ ID เหล่านี้ก็ตามมาด้วยประเด็นมากมาย เช่น การไม่มีมาตรฐานของ ID ความหลากหลายของรูปแบบการยืนยันตัวตน ทำให้ผู้ใช้งานต้องรองรับการยืนยันตัวต้นหลายแบบ และที่สำคัญคือความหลากหลายของระดับของความมั่นคงปลอดภัย (Security) และการดูแลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy)

ด้วยเหตุนี้ ทางหน่วยงานกลางของรัฐจึงเห็นว่าการสร้าง National Digital ID จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล นอกเหนือจากการวางโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม

มาเลเซียได้ออกแบบ Framework ของ National Digital ID ตามมาตรฐานสากล ISO 29115 และ ITU.TX.1254 โดย Framework นี้ แบ่งรูปแบบการทำงานของดิจิทัลไอดี เป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่
  1. การสมัครใช้งาน (Enrollment Phase) - เป็นขั้นตอนพิสูจน์ตัวตน และผูกบุคคล (Entity) เข้ากับ Identity
  2. การสร้างสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน (Authentication Management Phase) - เป็นการสร้างสิ่งที่ใช้เป็นตัวแทนของ Identity หรือที่เรียกว่า Authenticator
  3. การยืนยันตัวตน (Authentication Phase) - เป็นขั้นตอนที่ใช้ Authenticator ในการยืนยันตัวตนเข้าใช้งาน
  4. การกำหนดสิทธิ์ใช้งาน (Authorization Phase) - เป็นขั้นตอนที่ Application ตรวจสอบว่า Identity นั้น ๆ มีสิทธิ์เข้าถึงหรือใช้งานอะไรบ้าง
มาเลเซียได้พัฒนาระบบ National Digital ID ที่ทำงานผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ที่ชื่อว่า MyDigital โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้งานผ่านตู้ Kiosk หรือผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เมื่อสมัครใช้งานเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้งานจะได้ดิจิทัลไอดีอยู่ในโทรศัพท์มือถือ โดยรูปแบบการใช้งานของดิจิทัลไอดีนั้นสามารถแยกออกเป็น 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ การใช้งานสำหรับแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน, การใช้งานสำหรับ Web Browser Application และการใช้งานเพื่อควบคุมอุปกรณ์ผ่านสัญญาณ Bluetooth

ด้วยลักษณะการทำงานตามหลักการเทคโนโลยี PKI ดังนั้นรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานของดิจิท้ลไอดีของประเทศมาเลเซียนั้น ถือได้ว่าออกแบบในรูปแบบของการกระจายออกจากศูนย์กลาง (Decentralized Architecture) และสามารถลดปัญหาเกี่ยวกับ Single Point of Failure อีกทั้งด้วยความที่เป็นรูปแบบของ PKI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน จึงส่งผลทำให้การใช้งานข้ามพรมแดน (Cross Border Interoperability) สามารถทำได้ง่าย และเพื่อให้การใช้งานดิจิทัลไอดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้วยหลักคิดว่า หน่วยงานรัฐควรเป็นผู้ออกและควบคุมการใช้งาน ส่วนภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรม ควรเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่จะมาใช้งาน

TDID-QUOTE_190628_0011_0.jpg

ธนาคารโลก กับการเน้นย้ำว่า ดิจิทัลไอดีจะทำให้โลกของเราพัฒนาได้อย่างเท่าเทียมกัน 


มุมมองของธนาคารโลก (World Bank) ต่อดิจิทัลไอดีนั้น คือการที่ดิจิทัลไอดีจะมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้โดยง่าย สามารถได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมาย

ดิจิทัลไอดีที่ดีนั้น จะต้องให้อำนาจกับประชาชน โดยไม่ลืมเรื่องความเป็นส่วนตัว และความมั่นคงปลอดภัยด้วย

ชมย้อนหลังการพูดคุยบนเวที “1ST THAILAND DIGITAL ID SYMPOSIUM 2019” ได้ที่

ช่วงเช้า
  • ​พิธีเปิดและ Keynote โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดีอี และ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETD
  • “Providing digital access to all of Estonia’s secure e-services without physical contact” โดย Andrus Kaarelson, Director of State Information System, Republic of Estonia
  • The methods and the challenges “Managing more than 1.2 billion population with the most sophisticated Digital ID program” โดย Dr. Pramod Varma, Chief Architech of Aadhaar, Architech India Stack  & CTO of Ekstep
  • “Smart Citizens : The next episode of Singaporeans MOBILE ID” โดย Kendrick Lee, Director of Trusted Data & Services, Government Technology Agency (GovTech), Singapore
  • “Digital Infrastructure makes the prosperity for the country as physical infrastructure” โดย Ng Kang Siong, Principal Researcher of Information Security Lab MIMOS, Malaysia
ช่วงบ่าย 
  • “Digital ID make the world develop equally” โดย Jonathan Marskell, Identification for Development Initiative (ID4D) Specialist, The World Bank
  • International Panel Discussion “A blueprint for successful Digital ID implementation: Method & how to overcome challenge” 
  • Thai Panel Discussion “Moving Thailand digitally forward with Digital ID”

Rating :
Avg: 5 (1 ratings)