TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

สร้างสรรค์คอนเทนต์ สูตร Feed You and Fit Me

e-Commerce Documents
  • 08 ก.ย. 63
  • 1136

สร้างสรรค์คอนเทนต์ สูตร Feed You and Fit Me

“คอนเทนต์ (Content)” หนึ่งในสิ่งสำคัญบนโลกออนไลน์ที่มักเป็นใบเบิกทางด้านการสร้างความรับรู้ และการแสดงตัวตนของ ผู้ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ (Online Content Creator) ให้ผู้รับสารหรือกลุ่มเป้าหมายของเรารับรู้ การหาเอกลักษณ์และการสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์และสดใหม่ทันต่อสถานการณ์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ “เรื่องใหม่จะกลายเป็นเรื่องเก่าตกเทรนด์ได้ภายในข้ามวัน”

info_adviceforcontentcreator_v01-02-(2).jpg

 นอกจากนี้เนื้อหาต่าง ๆ ที่เราหยิบยกมานำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ต้องสังเกตและวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนในหลายแง่มุม ว่าสารที่เราต้องการจะส่งไปถึงกลุ่มเป้าหมายนั้น สามารถสื่อออกไปได้อย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือประเด็นอ่อนไหวหรือไม่ เพราะคอนเทนต์บนออนไลน์มีความเร็วของการส่งต่อในระดับสูง ทำให้หากเกิดข้อผิดพลาดก็อาจจะแก้ไขได้ยาก

4 เทคนิค เติมเต็มผู้ให้ ได้ใจผู้รับ

ETDA จึงขอนำเสนอ 4 เทคนิคที่ได้จากประสบการณ์ผู้ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาดีต่อสุขภาพสังคม และมีกระบวนการทำงานที่ดีต่อสุขภาพใจของผู้ผลิตคอนเทนต์ไปควบคู่กัน

1.) ไม่กดดันตัวเองมากจนเกินไป - บางครั้งความกดดันมักเป็นสิ่งช่วยผลักดันให้เราได้ท้าทายตัวเองในการทำสิ่งใหม่ ๆ เสมอ แต่บ่อยครั้งที่นักผลิตคอนเทนต์มักกดดันตัวเองมากจนเกินไป จนอาจทำให้เกิดความทุกข์ในการทำงาน ซึ่งหากเรากดดันอย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดภาวะความเครียดสะสมได้ เพราะฉะนั้นเราควรกดดันเพื่อเป็นการกระตุ้นตัวเองแต่พอเหมาะ หากเกิดข้อผิดพลาดให้แก้ปัญหาไปตามสถานการณ์และเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อผิดพลาดนั้น จงปลอบโยนและให้อภัยมากกว่ากล่าวโทษตัวเอง และอย่าลืมให้รางวัลตัวเองบ้างในตอนที่งานสำเร็จได้ตามเป้าหมาย
2.) สร้างเสริมสังคมที่ดี โดยการผลิตคอนเทนต์ที่ดีต่อผู้อ่าน – เคยสงสัยไหมว่า ทำไมคอนเทนต์ที่มีจุดประสงค์และเนื้อหาในการสื่อสารเหมือนกัน ถึงให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน? สิ่งที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า ลักษณะเฉพาะ หรือ Character ของผู้ผลิตคอนเทนต์นั่นเอง การใส่ความเป็นตัวเองลงไปในคอนเทนต์จะช่วยสร้างจุดเด่นหรือหาข้อแตกต่างได้เป็นอย่างดี แต่ในความเป็นตัวเองนั้น ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบในเรื่องราวหรือเนื้อหาที่เราถ่ายทอดออกไปสู่สังคมออนไลน์ ซึ่งเราสามารถ คิด เขียน แสดงทัศนคติของเรา ไม่ว่าจะทัศนคติทางบวกหรือทางลบต่อเรื่องหรือประเด็นใด ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องพาดพิงหรือกล่าวร้ายใคร ใช้เหตุและผลในการสื่อสาร เพียงแค่นี้ผู้ผลิตคอนเทนต์ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุขภาพสังคมที่ดีได้เช่นกัน
Behaviour-change-program-(1).jpg
(ภาพประกอบจาก learningfundamentals)
 
3.) สร้างความชัดเจนของสิ่งที่ต้องการสื่อ ด้วย Mind Mapping – การจัดลำดับความคิดถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการเล่าเรื่อง การจะสื่อสารให้ชัด ไม่สร้างความสับสนงุนงงให้แก่ผู้อ่าน อาจเริ่มจากการเขียนรายละเอียดสิ่งที่เราต้องการจะสื่อในคอนเทนต์นั้น ๆ ลงไปก่อน รวมถึงวิเคราะห์พฤติกรรมผู้อ่านกลุ่มเป้าหมายของเราว่ามีพฤติกรรมเช่นไร เช่น ถ้าเราต้องการสร้างคอนเทนต์สำหรับผู้สูงอายุ คำที่ใช้ต้องเป็นคำที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นใช้รูปภาพมากกว่าการเขียนเป็นบทความยาว ๆ เมื่อเราเรียงลำดับความสำคัญของเรื่องราวได้และเข้าใจพฤติกรรมผู้อ่านกลุ่มเป้าหมาย จะทำให้คอนเทนต์ของเราสามารถสื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
4.) “Content is King, Distribution is Queen, and Consistency is the key” - หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินวลีนี้ในด้านการตลาด ซึ่งวลีนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างคอนเทนต์ได้เช่นเดียวกัน โดยเปรียบเทียบ คอนเทนต์ กับ สินค้า (Product) เมื่อมีคอนเทนต์ที่ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ส่วนครึ่งที่เหลือนั้นก็ประกอบไปด้วยการ “สื่อสารให้ถูกกลุ่มเป้าหมายและแพลตฟอร์ม” และส่วนประกอบสุดท้ายที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการสื่อสารก็คือ “ความต่อเนื่อง” ในการสื่อสารนั่นเอง
info_adviceforcontentcreator_v01-03.jpg
 

Rating :
Avg: 4 (2 ratings)