TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน ถอดโมเดลพัฒนาชุมชนในต่างแดน สู่การพัฒนาชุมชนไทย ตอนที่ 1

e-Commerce Documents
  • 28 ก.ย. 63
  • 1847

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน ถอดโมเดลพัฒนาชุมชนในต่างแดน สู่การพัฒนาชุมชนไทย ตอนที่ 1

การพัฒนาชุมชน เป็นเรื่องที่หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อลดการกระจุกตัวของคนและพื้นที่เศรษฐกิจไม่ให้จำกัดอยู่เพียงแค่ในเมืองหลวง และเพื่อรักษาวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ให้มีผู้สืบทอดและคงอยู่สืบต่อไป

การที่จะทำให้คนในชุมชนต่าง ๆ ไม่อพยพย้ายถิ่นฐานนั้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ให้เกิดอาชีพและรายได้ และสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณะได้เทียบเท่ากับพื้นที่ในเมือง ซึ่งเงื่อนไขการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

หลาย ๆ บทเรียนจากต่างประเทศที่เดินหน้าไปก่อนแล้ว ก็สามารถนำมาปรับใช้กับชุมชนในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้มีชุมชน มีอาชีพ มีรายได้ ขณะเดียวกันก็สืบสานสิ่งที่มีอยู่ไปควบคู่กัน
 

บานสนปาตอง-พะเยา_210129.jpg(กลุ่มสตรีตำบลสันโค้ง กลุ่มสตรีบ้านสันป่าตอง จ. พะเยา)

สาธารณัฐประชาชนจีน หรือ ประเทศจีน ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซโลกที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดี ได้นำจุดแข็งของประเทศด้านเทคโนโลยีและระบบ e-Commerce Ecosystem มาช่วยพัฒนาและส่งเสริมชุมชนนอกเขตเมืองให้มีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนในพื้นที่ชนบท

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาชุมชน เกิดจากในช่วงปี พ.ศ. 2528 - 2558 ที่จีนมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักเกิดจากคนในชนบทไม่มีรายได้ จึงอพยพเข้ามาหางานทำในเขตเมืองเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ให้พื้นที่ชนบทขาดแคลนแรงงานและปัจจัยการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหลือเพียงเด็ก เยาวชน และคนชรา เท่านั้น

รัฐบาลจีน จึงประกาศนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการขยายตลาดออนไลน์ให้สามารถเข้าถึงคนในชนบทให้ได้มากขึ้น ซึ่งถึงแม้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านการทำอีคอมเมิร์ซมากนัก แต่ทางการจีนมองว่าคนเหล่านี้สามารถพัฒนาให้กลายเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนสำคัญในตลาดออนไลน์ได้ จึงดำเนินการให้เกิดการขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มฐานการผลิตสินค้าสู่ตลาดภายนอก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดให้กับชุมชนชนบท
 

แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ระดับประเทศร่วมพัฒนาชุมชน

Alibaba บริษัทอีคอมเมิร์ยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ดำเนินการโครงการ Taobao Rural Village เพื่อสนับสนุน พัฒนา และผลักดันให้เกิดการทำอีคอมเมิร์ชุมชนตามชนบทของประเทศจีน โดยโครงการนี้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะและกำลังคนให้มีความรู้ด้านดิจิทัลและการใช้งานอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น 2 โครงการหลัก ได้แก่
  1. Rural Taobao Service Center ศูนย์ให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับชุมชน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนในชนบทสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ทำอีคอมเมิร์ซ
  2. Rural Taobao Partner Initiative ปัญหาสำคัญของการพัฒนาชุมชนในชนบทคือขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัล Alibaba จึงแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการฝึกทักษะ พัฒนาฝีมือผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการจากทุกชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ และให้ค่าตอบแทนบุคคลเหล่านั้นจากค่าคอมมิชชัน (Commission) ที่เกิดจากการขายสินค้าในชุมชนบนแพลตฟอร์มออนไลน์
 

ถอดบทเรียน ประยุกต์ ปรับใช้ ให้เข้ากับชุมชนทั่วไทย

          สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้การดำเนินงาน โครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) เพื่อผลักดันให้การทำอีคอมเมิร์ซสามารถลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ และสร้างชาติ ได้ศึกษาและนำโมเดลการพัฒนาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาชุมชนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถขายสินค้าออนไลน์และสร้างกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และมั่นคงปลอดภัย โดยการนำเอา 2 การดำเนินการสำคัญของ โครงการ Taobao Rural Village มาปรับใช้กับการพัฒนา อันได้แก่
  1. ผลักดันให้ประชาชนในชนบท รับรู้เข้าใจ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและใช้เป็น โดยการต่อยอดจากโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ปัจจุบันได้กระจายการให้บริการอยู่ในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และยังคงมีการดำเนินการขยายพื้นที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนตามชนบทรับรู้ถึงวิธีการใช้อินเทอร์เน็ตและบริการของทางภาครัฐ พร้อมเสริมแทรกความรู้เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และมั่นคงปลอดภัย (Internet for Better Life) ระมัดระวังและเข้าใจเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) และรู้จักหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหากรณีซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ ได้แก่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC
  2. พัฒนาฝีมือแรงงานสร้างกำลังคนในชุมชน  โดยการผสานความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) หน่วยงานดูแลและสนับสนุนชุมชนด้านผลิตภัณฑ์และการสร้างรายได้ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) องค์กรขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมเวิร์กชอป (Workshop) ให้ชุมชนเข้าใจเรื่องของการขายสินค้าและบริการทางออนไลน์อย่างครบวงจร และสามารถขายได้จริง พร้อมมีระบบการจัดการที่ดี
ปัจจุบัน โครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) ที่ได้ดำเนินการกับ สค.  และ ปตท. ได้พัฒนาชุมชนกลุ่มตัวอย่างกว่า 17 ชุมชน จาก 4 ภาค ทั่วประเทศ มีสินค้าชุมชนทั้งประเภทอุปโภค บริโภค และการบริการ จนแต่ละชุมชนสามารถทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมร้านค้าออนไลน์ของทั้ง 17 ชุมชนได้ที่:
 
  1. ขนมไทย ไทรม้า กลุ่มพลังสตรีชุมชนบ้านไทรม้าเหนือ จ.นนทบุรี
  2. ศิริโชติ สมุนไพร วิสาหกิจชุมชน ศิริโชติ-สวัสดิ์กิจ จ.นนทบุรี
  3. วิสาหกิจชุมชนพลูฟ้า วิสาหกิจชุมชนพลูฟ้า จ.นครปฐม
  4. พื้นเพปัญญา กลุ่มบ้านอาชีพหนองงูเหลือม จ.นครปฐม
  5. สแนคคุณย่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสานฝัน จ.ปทุมธานี
  6. สายเงิน ผ้าไหมทอมือ กลุ่มทอผ้าบ้านหนองห้า จ.น่าน  
  7. กระติบญาติเยอะ ชุมชนบ้านสันบัวบก จ.พะเยา
  8. น้ำพริกติดตู้ กลุ่มสตรีตำบลสันโค้ง กลุ่มสตรีบ้านสันป่าตอง จ. พะเยา
  9. เนินคีรี โดย กลุ่มสตรีบ้านเนินคลี กลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีบ้านเนินคลี จ.พิษณุโลก
  10. วังผาชัน ผ้าทออุตรดิตถ์ กลุ่มทอผ้าบ้านวังผาชัน จ.อุตรดิตถ์
  11. เสื้อจุบหม้อและผ้าทอ by ผกาพรรณ กลุ่มเย็บเสื้อจุบหม้อบ้านโศกลึก จ.ชัยนาท
  12. ยาฮา เบเกอรี่ ชุมชนขนมอบบ้านดอนขี้เหล็ก จ.สงขลา
  13. กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านศาลาใหม่ จ.นราธิวาส
  14. หอมป่าฮอมดอย โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประดิษฐ์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน จ.เชียงใหม่
  15. แม่ทาออร์แกนิค โดย วิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค จ.เชียงใหม่
  16. ไทยพิมาน โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองไทพิมาน จ. นครพนม
  17. ป้อมยางนา โดย วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพิมาน จ. นครพนม

Rating :
Avg: 5 (2 ratings)