TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

Webinar กับ การพัฒนาชุมชนยุค New Normal

e-Commerce Documents
  • 24 พ.ย. 63
  • 12336

Webinar กับ การพัฒนาชุมชนยุค New Normal

        สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกต้องเปลี่ยนไป จนเกิดเป็น การใช้ชีวิตแบบความปรกติใหม่ หรือ New Normal ในหลายมิติ รวมถึงในแง่ของการดำเนินธุรกิจของทุกองค์กรที่เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอย่างฉับพลันทั่วโลก นั่นคือ การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home

          การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) กลายเป็นระบบสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทุกองค์กรสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องระยะทางให้สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ทั้งการประชุมทั่วไป และการประชุมในเรื่องลับ เพียงแค่ใช้บริการระบบควบคุมการประชุม e-Meeting ที่มีให้เลือกหลากหลายในปัจจุบัน
iStock-1221598198-(1).jpg          สำหรับประเทศไทยเอง แม้มีกฎหมายที่รองรับในเรื่อง e-Meeting มาแล้ว แต่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ก็ได้มีการปรับแก้ข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมโดยออกเป็นพระราชกำหนดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ได้ออกประกาศมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมและของระบบตามมา รวมทั้งมีกลไกในการตรวจรับรองระบบด้วย (ดูรายละเอียด ที่นี่)

Webinar_eMeeting-(2).jpg

Webinar คืออะไร?

           Webinar ย่อมาจาก Web-based Seminar คือ การสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์ที่เจ้าภาพ (Host) สามารถทำการควบคุมระบบการประชุมและการนำเสนอต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องอยู่สถานที่เดียวกันกับผู้ร่วมประชุม ซึ่งประเด็นหลักของ Webinar คือ การสัมมนาออนไลน์ที่ผู้นำเสนอสามารถพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ได้ หากมีปัญหาหรือมีประเด็นสอบถามเพิ่มเติม ผู้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ก็สามารถเปิดไฟล์เอกสารสอบถามได้ในทันที ซึ่งแต่เดิมการรับชมงานสัมมนาออนไลน์ทั่วไปมักเป็นการสื่อสารทางเดียวจากผู้นำเสนอส่งสารไปยังผู้รับสารอย่างผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่ง Webinar ถือเป็นอีกหนึ่งวิถี New Normal ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา
 

Meeting vs Conference vs Seminar ต่างกันอย่างไร?

          มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า Webinar ที่มาจากคำว่า Seminar นั้น ต่างจากการประชุมในรูปแบบ Meeting และ Conference ที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ อย่างไร?
          Meeting คือ การประชุมที่ไม่เป็นทางการมากนัก เช่น การประชุมส่วนงาน การประชุมแผนงาน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการประชุมภายในองค์กรเสียมากกว่า หรือถ้าเป็นการประชุมร่วมกับบุคคลภายนอกองค์กร รูปแบบของการประชุมจะไม่เป็นทางการมากนัก แต่จะเป็นการพูดคุยหารือในระยะเวลาสั้น ๆ มากกว่า
          Conference คือ การจัดประชุมแบบเป็นทางการ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การแบ่งปันความคิดเห็นหรือหารือภายใต้หัวข้อที่สนใจร่วมกันและมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การประชุม Conference หากใช้เวลานานมักมีการจัดที่พักหรืออาหารรับรองให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมด้วย
          Seminar คือ การจัดประชุมอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกันกับ Conference ที่เรียกในภาษาไทยว่า สัมมนา โดยแตกต่างตรงที่วัตถุประสงค์ของการจัดประชุม จะเป็นการเพิ่มพูนทักษะความรู้ให้กับผู้เข้าร่วม เช่น การจัดประชุมเพื่อให้ความรู้แก่บุคคลที่ทำการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน หรือ การบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการจัดประชุมแบบที่มีการมอบประกาศนียบัตรหลังจบงานให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมก็จัดอยู่ในรูปแบบของ Seminar ได้ด้วยเช่นกัน

info_20201124_Webinarai-02.jpg

Webinar กับ การพัฒนาชุมชนในโลกในยุค New Normal

          โครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) เพื่อผลักดันให้การทำอีคอมเมิร์ซสามารถลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ และสร้างชาติ ภายใต้แนวคิด e-Commerce Nation ภายใต้การดำเนินงานของ ETDA ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ได้ทำการทดลองระบบการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบ Webinar กับ 17 ชุมชนตัวอย่างทั่วประเทศ โดย ETDA ได้ประเมินและเลือกใช้แพลตฟอร์มที่เหมาะกับทักษะการใช้งานและอุปกรณ์ของตัวแทนชุมชนต่าง ๆ พร้อมทั้งคำนึงถึง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจเชิงพฤติกรรมในการใช้เทคโนโลยี (Behavioral Intention) ของตัวแทนชุมชน ทั้ง 3 ปัจจัยเป็นหลัก ได้แก่
  1. การรับรู้ความง่ายในการใช้งาน
  2. การรับรู้ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้งาน
  3. ทัศนคติที่ดีต่อการใช้งานเทคโนโลยี
          เพื่อถอดเป็นหลักสูตรบทเรียนพัฒนาชุมชนสู่อีคอมเมิร์ซที่เหมาะสมกับแต่ละชุมชน
          ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาชุมชนสู่อีคอมเมิร์ซประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คือ ทัศนคติที่ดีต่อการใช้งานเทคโนโลยีของคนในชุมชน เพราะเมื่อชุมชนมีทัศนคติที่ดีต่อเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จะทำให้พวกเขาพร้อมเปิดรับและมีความกล้าที่จะใช้งานช่องทางดังกล่าว แต่การที่จะทำให้ชุมชนมีทัศนคติที่ดีได้นั้น ผู้พัฒนาชุมชนจะต้องทำให้ชุมชนเกิดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี คือ ต้องเสริมสร้างทั้งความรู้ความเข้าใจด้านการใช้งาน ชี้แนะถึงข้อควรระวังเรื่องความมั่นคงปลอดภัย (Cybersecurity) ในการใช้งาน รวมทั้งเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) เพื่อให้ชุมชนรู้เท่าทันในการป้องกันภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น อันจะเป็นการสร้างความสบายใจ ลดความกังวล ในการใช้งานเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี


ความสัมพันธ์ คือ สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนา

          แม้เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น แต่การพัฒนาชุมชนยังคงต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้พัฒนาชุมชนกับคนในชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงวิถีชีวิต มุมมอง ความต้องการ และเป้าหมายที่แท้จริงของชุมชน การพบปะลงพื้นที่ชุมชนแบบออฟไลน์ ก็ยังถือเป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ หากแต่ในอนาคตเราอาจทำ การพัฒนาชุมชนในรูปแบบไฮบริด (Hybrid) พัฒนาชุมชนทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ร่วมกัน นั่นคือการ ลงหน้างานแบบออฟไลน์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ความเชื่อใจ ความน่าเชื่อถือ และการมีส่วนร่วม และพัฒนาชุมชนผ่านทางออนไลน์ เพื่อลดระยะห่างระหว่างชุมชนและผู้พัฒนาให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยให้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการรักษาความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น

Rating :
Avg: 5 (2 ratings)