วัตถุประสงค์ (Purpose)
กฎหมายต้นแบบ UNCITRAL ว่าด้วยการใช้และการรับรองข้ามพรมแดนของบริการจัดการข้อมูลประจำตัวและบริการที่เชื่อถือได้ (Model Law on the Use and Cross-border Recognition of Identity Management and Trust Services – MLIT) มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการใช้บริการจัดการข้อมูลประจำตัวในการระบุตัวตนของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลผ่านระบบออนไลน์ และการใช้บริการที่เชื่อถือได้ (trust services) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายฉบับนี้ยังเสนอแนวทางทางกฎหมายในการรับรองการใช้บริการเหล่านี้ข้ามพรมแดน เพื่อให้สามารถยอมรับและเชื่อมโยงกันได้ระหว่างประเทศต่าง ๆ
ความสำคัญของกฎหมายต้นแบบ (Why is it relevant?)
ในส่วนของความเชื่อมั่นในตัวตนของคู่ค้าและคุณภาพของข้อมูลที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนทางอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการค้าทางดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การบริการจัดการข้อมูลประจำตัวจะมาช่วยยืนยันความถูกต้องของตัวตนของบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในระบบออนไลน์ และในส่วนของการให้บริการที่เชื่อถือได้จะทำหน้าที่รับรองความถูกต้อง ความครบถ้วนและความสมบูรณ์ของข้อมูล
บริการเหล่านี้มักดำเนินการโดยผู้ให้บริการเฉพาะทาง และมีบทบาทสำคัญในการสร้างความไว้วางใจในกระบวนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายต้นแบบ MLIT จึงเป็นกฎหมายสากลฉบับแรกที่วางมาตรฐานทางกฎหมาย เพื่อส่งเสริมความน่าเชื่อถือในธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และช่วยเสริมให้ระบบกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของUNCITRAL มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของกฎหมายต้นแบบ (Key Provisions)
กฎหมายต้นแบบฉบับนี้ประกอบด้วย 4 หมวด ได้แก่ หมวดทั่วไป บริการจัดการข้อมูลประจำตัว บริการที่เชื่อถือได้ และการรับรองข้ามพรมแดน โดยหมวดที่ 1 และหมวดที่ 4 ใช้บังคับกับทั้งบริการจัดการข้อมูลประจำตัวและบริการที่เชื่อถือได้ ส่วนหมวดที่ 2 และ 3 มุ่งเน้นเฉพาะแต่ละประเภทบริการโดยตรง
บทที่ 1 ว่าด้วยคำจำกัดความ ขอบเขตการใช้บังคับ และบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับการใช้บริการทั้งสองประเภทด้วยความสมัครใจ รวมถึงความสัมพันธ์กับกฎหมายอื่น
บทที่ 2 มีการกำหนดโครงสร้างทางกฎหมายพื้นฐานของระบบจัดการข้อมูลประจำตัว ระบุหน้าที่หลักของผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิด ตัวอย่างที่สำคัญคือ มาตรา 9 ที่วางหลักความเทียบเท่าทางหน้าที่ระหว่างการระบุตัวตนในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยต้องใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ ซึ่งสามารถประเมินย้อนหลังตาม มาตรา 10 หรือกำหนดล่วงหน้าตาม มาตรา 11
บทที่ 3 ว่าด้วยโครงสร้างทางกฎหมายของการใช้บริการที่เชื่อถือได้ เช่น ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ การประทับเวลา การจัดเก็บข้อมูล การจัดส่งแบบลงทะเบียน และการยืนยันเว็บไซต์ (มาตรา 16–21) โดยแต่ละบริการต้องใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ ซึ่งประเมินตาม มาตรา 22 (การประเมินย้อนหลัง) หรือ มาตรา 23(การประเมินล่วงหน้า)
บทที่ 4 ว่าด้วยกลไกการรับรองข้ามพรมแดนของบริการจัดการข้อมูลประจำตัวและบริการที่เชื่อถือได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของกฎหมายนี้ โดยใช้แนวทางแบบกระจายศูนย์ (decentralized approach) และรองรับการประเมินวิธีการที่เชื่อถือได้ทั้งแบบย้อนหลังและล่วงหน้า
ที่มา: https://uncitral.un.org/en/mlit