TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน พัฒนาชุมชนแบบคนยุคพัฒนา ในวิถี New Normal

e-Commerce Documents
  • 18 ส.ค. 63
  • 1634

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน พัฒนาชุมชนแบบคนยุคพัฒนา ในวิถี New Normal

“Man is the center of development”


ที่ผ่านมา การพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นให้มีการยกระดับในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม สภาพแวดล้อม หรือศักยภาพของชุมชน และจากการยืนหยัดด้วยแนวคิดที่ว่า ทุกคนสามารถพัฒนาได้ จึงทำให้ศาสตร์ของการพัฒนาชุมชน ยังมีอยู่ถึงทุกวันนี้

หากพูดถึงการพัฒนาชุมชน คงจะนึกถึงภาพการออกไปทำงานนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในเมือง หรือชนบท ที่ต้องบุกบั่นไปกับการเดินทาง เพื่อพบปะพูดคุยกับชาวบ้านที่น่ารัก เป็นกันเอง ผจญกับอากาศร้อนบ้าง หนาวบ้าง ฝนตกบ้าง ซึ่งสำหรับคนที่รักในงานนี้แล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากทีเดียว เพราะการทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ต้องอาศัย “ความใจ…ใจ” นั่นคือ จริงใจและเข้าใจ 

CHK_9661.jpg
(วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสานฝัน จ.ปทุมธานี)
 

แนวคิด “ทุกคนพัฒนาได้” สำคัญอย่างไรในการทำงานกับชุมชน ?

ผู้พัฒนาควรมีแนวคิดสำคัญแนวคิดหนึ่งที่ยึดมั่นไว้ คือ “ทุกคนพัฒนาได้” เพราะ เมื่อคิดเช่นนี้แล้วจะได้ลดความคิดความรู้สึก 3 อย่าง ที่จะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนา นั่นคือ
  1. ลดอคติ ช่วยให้หยุดความคิดเห็นส่วนตัวในเชิงลบออกไปได้
  2. ลดกังวล ช่วยให้หยุดความกังวลในการพัฒนา ว่าชุมชนนี้จะไม่สามารถพัฒนาได้
  3. ลดตัดสิน ช่วยให้หยุดการตัดสินชุมชน เพราะข้อมูลเพียงเล็กน้อย
เพียงผู้พัฒนายึดมั่นในแนวคิดข้างต้นและปรับความคิดเพียงเท่านี้ ก็จะพร้อมลงพื้นที่เพื่อไปพูดคุย ทำความคุ้นเคย และร่วมพัฒนาชุมชนกันต่อไปได้

จะทำอย่างไรดี เมื่อไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อพัฒนาได้?

“คนเรามักจะต้องปรับตัวอยู่เสมอ การพัฒนาชุมชนก็เช่นกัน...”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการหยุดชะงักของการใช้ชีวิตของเราหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ การรวมกลุ่มคน การขายสินค้าตามห้างร้านและชุมชน หากแต่ยุคที่ทุกสิ่งพัฒนาและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ จึงเกิดเป็น พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบความปกติใหม่ หรือ New Normal ขึ้น 

IMG_0901_0.jpg 2020_25-6-29_200708.jpg
(กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ศิริโชติ-สวัสดิ์กิจ จ.นนทบุรี และ กลุ่มทอผ้าบ้านวังผาชัน จ.อุตรดิตถ์)
 

การลงพื้นที่แบบ New Normal เป็นอย่างไร?

เมื่อเราไม่สามารถเดินทางและรวมกลุ่มกันได้เหมือนก่อนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง หรือ Social Distancing อีกหนึ่งช่องทางที่เราคุ้นเคยกันมากและสามารถนำมาทดแทนได้ก็คือ ช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Social Media, e-Learning, e-Meeting ที่ในภาวะปกติก็เคยใช้กันมา แม้บางชุมชนไม่เคยใช้มาก่อนหรือไม่คุ้นเคย ก็สามารถเรียนรู้ได้ อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้วางไว้ผ่าน “เน็ตประชารัฐ” ให้เต็มศักยภาพอีกด้วย

ขณะที่เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาชุมชน ก็ย่อมมีหน้าตาที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เป็นแบบฟอร์มเก็บข้อมูลในกระดาษ และนักพัฒนาต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ สามารถทำทั้งหมดได้ผ่านช่องทางออนไลน์ นับเป็นความท้าทายใหม่ของงานพัฒนาชุมชน เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาผ่านออนไลน์แล้ว ยังจะต้องทำให้ชุมชนไว้เนื้อเชื่อใจ ถึงแม้จะไม่เคยพบปะกันมาเลยก็ตาม

IMG_1026.jpg
(วิสาหกิจชุมชนขนมอบบ้านดอนขี้เหล็ก จ.สงขลา)
 

เปิดประสบการณ์การลงพื้นที่แบบใหม่ โดย ETDA

          สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินโครงการ ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) เพื่อผลักดันให้การทำอีคอมเมิร์ซช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ และสร้างชาติ ภายใต้แนวคิด e-Commerce Nation ได้ผสานความร่วมมือกับ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในการพัฒนาการขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหวังอยากเห็นสินค้าชุมชนเป็นที่รู้จักไปในหลายพื้นที่ และสามารถขายสินค้าได้ แม้จะไม่มีการออกบูทขายสินค้า

          นับเป็นความท้าทายอย่างมากกับการเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการเก็บข้อมูลจากชุมชน สอนชุมชนให้เรียนรู้วิธีการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้เรื่องการทำอีคอมเมิร์ซ แม้เป็นสิ่งที่ชุมชนไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็ได้ผลตอบรับที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างมาก
 
"แต่ละชุมชนต่างมีศักยภาพในการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ
และเปิดใจรับความรู้อย่างเต็มที่ อีกทั้งสามารถเปิดร้านค้าออนไลน์ได้เอง
แม้แค่เรียนกันผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น โดยยังไม่ได้พบปะกันเลย"

          สิ่งเหล่านี้ ประสบความสำเร็จได้ด้วยการใจ…ใจ ที่ต่างเปิดใจกันทั้งสองฝ่าย ชุมชนเปิดใจรับ ETDA ในการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ETDA ใช้ความจริงใจและเข้าใจชุมชน เชื่อมั่นในศักยภาพที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกัน เพื่อหาแนวทางมาพัฒนาชุมชนให้ตรงจุด

          ปลายทางในการพัฒนาคือ ชุมชนอยู่ได้ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างเช่นการทำอีคอมเมิร์ซ ถึงแม้การลงพื้นที่ในแบบ New Normal เป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เกิดความสามารถของทุกคน ถ้าพร้อมที่จะปรับตัวอยู่เสมอ และมองที่ปลายทางไปด้วยกัน “เพราะคนยุคพัฒนา จะไม่มีวันหยุดพัฒนาอย่างแน่นอน”

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)