TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

คิดแบบนักอนาคตศาสตร์  ทักษะสำคัญที่ต้องอัปสกิลให้พร้อมถ้าไม่อยากถูก Disrupt!

Foresight Documents
  • 08 ต.ค. 66
  • 977

คิดแบบนักอนาคตศาสตร์ ทักษะสำคัญที่ต้องอัปสกิลให้พร้อมถ้าไม่อยากถูก Disrupt!

Key Takeaways:

  • การคิดแบบนักอนาคตศาสตร์ หรือ Futuristic Thinking จะกลายเป็นทักษะสำคัญที่ขาดไม่ได้ในอนาคต ปัจจุบัน โลกคาดการณ์ได้ยากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในขณะเดียวกันเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยที่เข้ามาพร้อม ๆ กัน หลายวิกฤตเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยพบ และต้องการการตอบสนองแบบทันท่วงที 
  • หลายประเทศและองค์กรชั้นนำต่างก็ให้ความสำคัญกับ Futuristic Thinking ของบุคลากรในองค์กร
  • นักอนาคตศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญในการเตรียมองค์กรให้พร้อมรับมือกับอนาคต เช่น ช่วยให้วางแผนเชิงกลยุทธ์ได้ดีขึ้น ช่วยวิเคราะห์วัฒนธรรมองค์กรในอนาคตเพื่อดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงาน ช่วยสร้างความแตกต่างในตลาด และทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 
  • Futuristic Thinking เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนกันได้ ทุกคนจึงควรฝึกฝนและพัฒนาทักษะนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทาย และมุ่งไปสู่อนาคตในแบบที่ต้องการ

ปัจจุบัน โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรากำลังเปลี่ยนผ่านจากโลกที่คาดการณ์ได้…ไปสู่โลกที่คาดการณ์ได้ยาก มีความไม่แน่นอนและความเปราะบางสูง การเปลี่ยนแปลงในขณะเดียวกันสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่เข้ามาพร้อมกัน ดังนั้นเราจะมองการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากปัจจัยเดียวไม่ได้อีกต่อไป อีกทั้งหลายวิกฤตยังเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยพบ และต้องการการตอบสนองแบบทันท่วงที หากไม่เปลี่ยนวิธีการรับมือ เราจะปรับตัวไม่ทัน และถูก Disrupt ได้ในที่สุด…
 
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับโอกาส และความท้าทายในอนาคตได้คือ การคิดแบบนักอนาคตศาสตร์ (Futurist) โดยเขาเหล่านี้ใช้ทักษะการมองอนาคต หรือ Futuristic Thinking ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบันและอนาคต
 

ทำไมการคิดแบบนักอนาคตศาสตร์ถึงสำคัญทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต ?  
หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ใครจะไปคิดว่าโทรศัพท์มือถือจะสามารถทำอะไรได้มากมายขนาดนี้ รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มบุคคลที่สามารถคาดการณ์สิ่งเหล่านี้ได้ก่อนหน้านี้แล้วนั่นคือ นักอนาคตศาสตร์ (Futurist) 
 
นักอนาคตศาสตร์จะมีทักษะในการมองอนาคต และใช้ศาสตร์ของ Foresight หรืออนาคตศาสตร์ในการมองและทำความเข้าใจอนาคตอย่างเป็นระบบ จากการใช้ข้อมูลหลากหลายรูปแบบ หลากหลายปัจจัยเข้ามาประกอบกัน ทั้งปัจจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ มาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยคำตอบของ Foresight จะไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว เพราะรูปแบบอนาคตที่เป็นไปได้มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะทำออกมาเป็นฉากทัศน์ (Scenario) 
 
ในการทำ Foresight จะเริ่มจากขั้นตอนการมองย้อนอดีตเพื่อดูเส้นทางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Look Back to Look Forward) ต่อมาคือการเฝ้าติดตามและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง (Horizon Scanning) โดยจะมีการกวาดสัญญาณการเปลี่ยนแปลง (Signal) ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน สม่ำเสมอ คำว่า Signal นี้จะต่างจาก Trend หรือ แนวโน้มที่เราเคยไห้ยินกัน โดย Signal เป็นสัญญาณเล็ก ๆ ที่มันอาจไม่ได้เป็น Trend ใหญ่ในปัจจุบัน แต่อาจทำให้เกิดการขยายผลออกมาเป็น Trend ใหญ่ได้ในอนาคตเราจะต้องจับ Signal นั้นให้ได้ แล้วมาวิเคราะห์ว่า Signal นั้นจะกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง 
 
จากนั้นสร้างความเชื่อมโยง (Web of Impact) โดยจะประยุกต์ใช้ศาสตร์และความเชี่ยวชาญหลายอย่าง ทั้งองค์ความรู้ด้านธุรกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม จิตวิทยา จนถึงสุขภาพ รวมไปถึง ค่านิยม ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของผู้คนที่จะเปลี่ยนแปลงในอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า ต่อมาก็จะสร้างฉากทัศน์ที่เป็นภาพอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ 
 
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้แล้วนั้น นักกลยุทธ์ นักยุทธศาสตร์ ก็จะสามารถนำฉากทัศน์ที่ได้ไปแปลงเป็นแผน กลยุทธ์ หรือออกแบบแนวทางการดำเนินงานขององค์กรต่อ ซึ่งกระบวนการ Foresight นี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการจัดทำแผนระดับองค์กร ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนวางยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศเลยทีเดียว

Picture1.jpg

ขอบคุณภาพจาก The Times
 

ถ้าพูดถึงนักอนาคตศาสตร์ชื่อดังคงต้องพูดถึง Ray Kurzweil (เรย์ เคิร์ซเวล) เมื่อปี 1990 เขาได้เผยแพร่คำทำนายผ่านหนังสือ The Age of Intelligent Machines ซึ่งเขาทำนายได้ถูกต้องถึง 115 เรื่อง จากทั้งหมด 145 เรื่อง เรียกได้ว่าทำนายได้แม่นมากเลยทีเดียว โดยเหตุการณ์สำคัญที่ Kurzweil เคยทำนายไว้ มีมากมาย เช่น ก่อนปี 2000 คอมพิวเตอร์จะสามารถเล่นหมากรุกชนะมนุษย์ที่เล่นดีสุด ซึ่งปี 1997 Deep Blue ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ IBM ก็สามารถเอาชนะ Garry Kasparov แชมป์หมากรุกโลกได้จริง 
 
อีกคำทำนายคือในปี 1990 อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นสิ่งที่คนใช้กันเป็นเรื่องปกติ และยังบอกต่อว่า อินเทอร์เน็ตจะไม่ได้เติบโต แค่เฉพาะจำนวนผู้ใช้งานเท่านั้น แต่จะเติบโตจนกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียง 2.6 ล้านคนจากทั้งหมด 5,000 กว่าล้านคนเอง และการเข้าใช้งานในตอนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
 
ลองจินตนาการดูว่าถ้าเราสามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างนักอนาคตศาสตร์ ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ และเป็นกระแสร้อนแรงอย่างเรื่อง Generative AI เช่น ChatGPT DALL-E และ Midjourney ได้ตั้งแต่ 10 ปีก่อน เราคงมีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาส และความท้าทายที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ได้เปรียบกว่าผู้ที่ไม่รู้ 
 
เพราะแน่นอนว่า Generative AI มีทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสเข้ามาทดแทนการทำงานเราได้ ซึ่งจากรายงานของ Goldman Sachs สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ระบุว่า ความก้าวหน้าของ Gen AI อาจนำไปสู่การเลิกจ้างที่ขยายไปทั่วโลก พนักงานกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกอาจสูญเสียตำแหน่งงาน 

ai-robot-consoling-a-sad-lonely-man-2023-05-11-03-48-53-utc.jpg

หากเราทราบล่วงหน้าก่อนจะได้ Upskill และ Reskill ตัวเองให้พร้อมตั้งแต่แรก หรือในมุมขององค์กร อาจวางกลยุทธ์ในการรับมือกับการมาถึงของ Generative AI ลงทุนเกี่ยวกับ Generative AI หาวิธีนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรในด้านต่าง ๆ รวมถึง Upskill และ Reskill พนักงานให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
ภาครัฐเองก็จะได้มีการลงทุนเทคโนโลยีนี้เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันของประเทศ ปรับหลักสูตรการศึกษา Upskill และ Reskill ประชาชนให้มีทักษะที่พร้อมต่อการใช้เทคโนโลยีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และย้ายไปทำงานที่เทคโนโลยียังไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้เอง คนที่มีทักษะการคิดเชิงอนาคตแบบนักอนาคตศาสตร์ จึงมีความได้เปรียบและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะเราเห็นภาพเหตุการณ์ล่วงหน้า จึงมีเวลาได้เตรียมพร้อมรับมือกับมันได้ก่อนผู้ที่ไม่รู่ว่าต่อไปในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น
 
ทำไมองค์กรปัจจุบันถึงต้องการนักอนาคตศาสตร์ มาช่วยสู้ศึก Digital Disruption?    
ผู้นำองค์กรหลายท่านเข้าใจดีว่า เราต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต แต่ก็ยังประสบปัญหาอยู่ไม่น้อย มันง่ายที่จะนำข้อมูลในปัจจุบันมาวิเคราะห์เพื่อวางกลยุทธ์องค์กรในอีก 1-3 ปี แต่ถ้าเป็น 5 ปี 10 ปี ต่อจากนี้ล่ะ?

young-business-people-meeting-office-teamwork-prob-2022-11-09-05-20-40-utc.jpg

World Economic Forum ได้ระบุว่า 75% ขององค์กรในปัจจุบัน ไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับ การเปลี่ยนแปลงทั้งในอุตสาหกรรมของตนเอง และอุตสาหกรรมใกล้เคียงเลย อีกทั้ง CEO เกือบ 40% ก็ไม่คิดว่าองค์กรของพวกเขาจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจในทศวรรษนับจากนี้ หากยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปแบบเดิม 
แน่นอนว่ามันยากมากที่จะเห็นทิศทางขององค์กรที่ชัดเจนว่าต้องเดินหน้าต่ออย่างไร และจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร 
 
ปัจจุบัน องค์กรหลายที่เริ่มให้ความสนใจกับ Foresight และให้ความสำคัญกับทักษะการมองอนาคตที่มีอยู่ในบุคลากร เพื่อเอาผลที่ได้มาวิเคราะห์ ทำกลยุทธ์ และ Action Plan ในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี และมาเลเซีย รวมถึงองค์กรนานาชาติชั้นนำอย่าง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก็ได้นำศาสตร์ด้านการมองอนาคตไปใช้ในการวางแผนพัฒนาและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ สังคม การปกครองและความมั่นคงประเทศ ในระยะยาวอย่างจริงจัง จึงไม่แปลกที่อาชีพนี้จะเป็นที่ต้องการขององค์กรชั้นนำอย่างมาก
 
ส่วนในประเทศไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับการมองอนาคตเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เอง ก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์คาดการณ์อนาคตหรือที่เรียกว่า ETDA Foresight center ซึ่งจะเป็นกลุ่มงานที่เป็นเสมือนถังความคิด (Think Tank) ในการติดตามสัญญาณ และแนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นำไปสู่การหาปัจจัยขับเคลื่อนการจัดทำเป็นภาพฉายอนาคตจนต่อยอดนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดำเนินงานครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาเครื่องมือและฐานข้อมูล มีการศึกษากรณีศึกษาที่น่าสนใจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ โดยมุ่งหวังว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เพื่อวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้เครื่องมือและวิธีการศึกษาอนาคตที่ได้รับการยอมรับและน่าเชื่อถือ ที่เผยแพร่สู่สาธารณะในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การเสนอบทความ การเสนองานวิจัย การจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือของเครือข่ายหน่วยงานและองค์กร ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่การจัดทำความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่อไป 
 
นักอนาคตศาสตร์ จะเข้ามาช่วยองค์กรของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง?
จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่หลายคนต่างพูดถึงกันว่าเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ มากมาย เช่น เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี องค์กรที่ปรับตัวไม่ทันก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง และนี่คงไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้ายที่จะเกิดขึ้นที่จะมาเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงกับโลกของเรา ในโลกที่มีความไม่แน่นอนนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์มากมายที่กำลังก่อตัวเป็นความท้าทายให้กับองค์กรอย่างไม่จบสิ้น องค์กรต่าง ๆ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเผชิญกับข้อจำกัดในการวางแผนกลยุทธ์และนโยบาย เพื่อตอบสนองกับความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้

Infographic-TH.jpg

 ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยนักอนาคตศาสตร์เข้ามาช่วยทำให้ภาพอนาคตชัดเจนขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ โดย 5 สิ่งสำคัญที่นักอนาคตศาสตร์จะเข้ามาช่วยองค์กรมีดังนี้
1. ช่วยวางแผนเชิงกลยุทธ์ดีขึ้น 
การคาดการณ์อนาคตเป็นขั้นตอนที่จำเป็นก่อนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ไปไกลกว่าแค่การแก้ปัญหาในปัจจุบัน สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตได้ดีกว่าเดิม
 
2. ช่วยสร้างความแตกต่างในตลาด 
องค์กรส่วนใหญ่ต้องการสร้างความแตกต่างในตลาดในอนาคต แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร นักอนาคตศาสตร์สามารถเข้ามาช่วยศึกษาตลาด หาโอกาสสำหรับการขยายนวัตกรรม วิเคราะห์ว่าคู่แข่งขององค์กรว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรในทศวรรษหน้า ตลอดจนเสนอแนวทางปฏิบัติขององค์กรต่อไปได้
 
3. ช่วยเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต 
นักอนาคตศาสตร์จะการกวาดหาสัญญาณอนาคต (Horizon scanning) ทุกวันเพื่อที่จะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และปลูกฝังคนในองค์กรให้มีความเข้าใจแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เป็นการตรียมพร้อมทั้งองค์กรให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจก่อให้เกิดโอกาสหรือความท้าทายขององค์กรในอนาคต
 
4. ช่วยให้ทราบข้อมูลเชิงลึกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 
ข้อมูลเชิงลึกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรนับเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า นักอนาคตศาสตร์สามารถช่วยวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าขององค์กรในปัจจุบันและในอนาคตอีก 10 ปีนับจากนี้ได้ เพื่อให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์และข้อเสนอต่าง ๆ ที่ให้แก่ลูกค้าจะสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น และตอบสนองความต้องการได้อย่างไรบ้าง
 
5. ช่วยวิเคราะห์วัฒนธรรมองค์กรและหาคนเก่งเข้ามาทำงาน 
วัฒนธรรมที่เรารับรู้กับวัฒนธรรมที่มีอยู่จริงในองค์กรหลายครั้งมักแตกต่างกัน นักอนาคตศาสตร์สามารถช่วยคาดการณ์วัฒนธรรมที่จะสร้างความสำเร็จในองค์กรในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูดคนเก่ง ๆ ที่กำลังมองหางานใหม่ เนื่องจากคนเก่ง ๆ จะคำนึงถึงเรื่องวัฒนธรรม และประสบการณ์ที่จะได้จากองค์กรเป็นปัจจัยต้น ๆ ในการตัดสินใจเลือกทำงานกับองค์กร ดังนั้นหากองค์กรสามารถระบุได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรของจะเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะมีโอกาสอะไรบ้างที่จะเข้ามาในองค์กรในระหว่างนี้ถึงตอนนั้น ก็จะสามารถดึงดูดคนเก่ง ๆ ที่ต้องการจ้างและสามารถรักษาคนเก่ง ๆ เหล่านี้ไว้ได้
 
จะเห็นได้ว่า การที่มีนักอนาคตศาสตร์ในองค์กร จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้มากมาย หลายคนคิดว่าจะมีทักษะแบบนักอนาคตศาสตร์ได้ คงต้องเป็นคนในสายเทคโนโลยีหรือเปล่า ต้องเรียนจบปริญญาเอก หรือต้องเรียนเฉพาะทางมาไหม 
 
ข่าวดีก็คือ ไม่ว่าใครก็เรียนรู้ทักษะการมองอนาคตแบบนักอนาคตศาสตร์ได้ จากการปลูกฝังวิธีคิด (Mindset) แบบนักอนาคตศาสตร์ องค์กรทั่วไปก็สามารถปลูกฝัง Mindset นี้ให้กับพนักงานได้ 
 
ถอดวิธีคิดแบบนักอนาคตศาสตร์ที่ใครก็สามารถเรียนรู้ได้ 


asian-creative-team-brainstorming-2021-10-21-03-07-22-utc.jpg

มาดูกันว่าการจะมีทักษะการมองอนาคตแบบนักอนาคตศาสตร์ เราจะต้องมี Mindset อะไรบ้าง 
1. ต้องตั้งคำถามเก่ง 
ชอบตั้งสมมติฐานขึ้นมาใหม่ และพิจารณาถึงผลกระทบของการตัดสินใจที่เราทำในปัจจุบัน
 
2. ช่างสงสัย มีความกล้าในการเริ่มสิ่งใหม่ 
เปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ และท้าทาย และแบ่งปันความคิดรวมถึงข้อกังวลกับผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ต้องตั้งใจรับฟังข้อโต้แย้ง และมุมมองของผู้อื่นด้วย
 
3. ทำความคุ้นชินกับความไม่แน่นอนและมุมมองที่หลากหลาย 
ต้องเข้าใจว่าองค์กรสามารถมีภาพอนาคตได้หลายรูปแบบ หลายทางเลือก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคนในองค์กร รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกกับพาร์ทเนอร์และลูกค้า 
 
4. ไม่ด่วนตัดสินใจ 
ระวังเรื่องอคติ เพราะจะทำให้เกิดข้อสรุปที่บิดเบี้ยว และไม่เป็นเหตุเป็นผลได้ หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่จะสร้างอคติ เช่น “สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น” หรือ “นี่มันก็เป็นแค่กระแสเท่านั้นแหละ !”
 
5. ใช้ความคิดสร้างสรรค์ (อย่างบ้าคลั่ง) 
ส่องสัญญาณ แนวโน้ม และแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับอนาคตให้ได้มากที่สุด ไม่ตัดไอเดียใด ๆ ก็ตามที่เสนอมา พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดที่ได้กับทีมรวมถึงพาร์ทเนอร์
 
6. มองหาแนวโน้มหรือแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตจากสถานการณ์ในปัจจุบัน 
หาองค์กรหรือนักวิจัยที่มีมุมมองความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับอนาคต สังเกตผลงานที่ถูกนำเสนอโดยนักออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์ นักกวี นักปรัชญา นักเขียน นักดนตรี ผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวัฒนธรรมที่ต่อต้านหรือตรงข้ามกับวัฒนธรรม หรือค่านิยมที่ยอมรับในวงกว้าง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ๆ  ซึ่งการทำเช่นนี้จะเปิดโอกาสให้เรามีความคิด และมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับอนาคตได้อีกมากมาย
 
7. มองอนาคตให้ไกล 
ในที่นี้คือมองอนาคต 5 ปี 10 ปี และ 20 ปีขึ้นไป และถ้าเราเริ่มมองไปถึงอนาคตในอีก 50 ปี 100 ปี 200 ปี หรือไปถึง 500 ปีข้างหน้า เราจะเห็นว่าทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและเปิดโอกาสให้เราคิดไอเดียสร้างสรรค์เกี่ยวกับอนาคตได้อย่างไม่มีข้อจำกัดใด
 
8. เน้นการทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน 
การที่เรานำข้อมูลมาวิเคราะห์ คาดการณ์อนาคต ทั้งประเทศ องค์กร และชุมชน ต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน 
 
9. ระวังเมื่อต้องคาดการณ์อนาคต
ในการคาดการณ์อนาคตมักมีเรื่องของอคติ ความลำเอียง และข้อจำกัดต่าง ๆ เราคาดการณ์โดยมองหาแนวโน้มและสร้างความคาดหวังในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา การออกแบบอนาคตจึงเป็นกระบวนการต่อเนื่องและควรได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ 
 
10. เก็บคำถามที่ว่า ‘ต้องทำอย่างไร’ ไว้ท้ายสุด 
ระหว่างที่เราออกแบบอนาคต เราอาจเจอไอเดียที่ล่อตาล่อใจให้เราอยากวางแผน ทำมันให้เป็นจริงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และทำให้เราเลือกที่จะหยุดมองอนาคตในระยะยาวกว่านั้น ซึ่งไอเดียเหล่านั้นมีโอกาสสูงที่ไม่ใช่ไอเดียสำหรับอนาคต เพราะยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอหรือครบถ้วน ดังนั้นเพื่อให้ได้ความคิดที่ไม่จำกัด และมีความสร้างสรรค์ ควรทำกระบวนการวางแผนอนาคตให้เสร็จก่อน เก็บคำถามที่ว่า “ต้องทำอย่างไร” ถึงจะทำให้เกิดขึ้นจริงไว้ลำดับสุดท้าย
 
จะเห็นได้ว่าการคิดแบบนักอนาคตศาสตร์ หรือการสร้างทักษะการมองอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่ยากหรือไกลตัวเลย เพียงแต่ต้องอาศัยการฝึกฝน และที่เน้นย้ำเลยคือต้องมีความใจกว้าง เปิดรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันกับคนในทีมให้มาก ๆ ทักษะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในชีวิตประจำวัน ทั้งช่วยให้เราวางแผนสร้างอนาคตของตัวเอง ช่วยสร้างความโดดเด่นในองค์กร และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาองค์กรและประเทศได้อีกด้วย 
 
ถึงตาคุณแล้ว ! เราอยากให้คุณลองจินตนาการดูว่า ภาพอนาคตของคุณ หรือองค์กรของคุณ ในอีก 5 ปี 10 ปี  20 ปี น่าจะหน้าตาเป็นอย่างไร มีภาพอนาคตมีความเป็นไปได้รูปแบบใดบ้าง แล้วคุณจะเลือกทางเลือกไหน อะไรคือสิ่งท้าทาย และเราจะวางแผนรับมืออย่างไร  สุดท้ายนี้ Foresight Center by ETDA หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ และได้นำไปปรับใช้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทาย และมุ่งไปสู่อนาคตในแบบที่ต้องการ…        

หมายเหตุ                                                                                                         

  • Artificial Intelligence (AI) คือ เทคโนโลยีที่มีการทำงานอย่างชาญฉลาด ไปจนถึงระบบขั้นสูงที่สามารถเลียนแบบกระบวนการคิดของมนุษย์ได้ เช่น การคิดคำนวน การวิเคราะห์ข้อมูล ผ่านกระบวนการเทรนด์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ซับซ้อนด้วยโมเดล Machine learning algorithm ทั่วไป
  • Generative AI เป็นประเภทหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะให้มีความสามารถในการ “สร้างใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model โดยสามารถนำมาใช้งานหลากหลาย เช่น การสร้างภาพ การประมวลผล การสร้างเสียงดนตรี 


อ้างอิงจาก
The Systems Thinker, Insight and Foresight, World Economic Forum, Salika, CNBC, VOX, Guardian, Fast Company, Futurist

Rating :
Avg: 5 (2 ratings)