TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน 3 พร้อม นำชุมชน GO ONLINE

e-Commerce Documents
  • 30 พ.ย. 63
  • 1411

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน 3 พร้อม นำชุมชน GO ONLINE

          “การทำงานกับประชาชนมิใช่ให้ประชาชนทำ” คือ หลักการพัฒนาชุมชนที่ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ให้คำนิยามไว้ ซึ่งการพัฒนาชุมชนนั้นมีหลากหลายมิติและแง่มุมแตกต่างกันออกไป เช่น การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาสภาพแวดล้อม การพัฒนาสภาพจิตใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารูปแบบหรือแง่มุมใดก็ตาม ต่างก็มีหลักร่วมกัน คือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

          สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินโครงการ ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) เพื่อเป็นอีกหนึ่งมิติในการพัฒนาชุมชนผ่านการผลักดันให้เกิดการทำอีคอมเมิร์ซ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ และสร้างชาติ ภายใต้แนวคิด e-Commerce Nation โดยได้ผสานความร่วมมือกับ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) องค์กรขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผลักดันและพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชนให้เข้าสู่การทำอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจรใน 17 ชุมชน 4 ภาค ทั่วประเทศ และได้ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนด้วยอีคอมเมิร์ซ เพื่อหวังให้ทั้ง 17 ชุมชน เป็นโมเดลต้นแบบชุมชนพัฒนาที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ

CHK_0095.jpg


“อย่างแรกเลยคือเราต้องถามชุมชนก่อนว่า เขาพร้อมหรือไม่ ที่จะ GO ONLINE กับเรา
ถ้าเขาบอกว่าพร้อม คราวนี้เราก็ต้องมาดูแล้วว่าพร้อมในด้านไหนบ้าง
เพื่อหาบทเรียนและกิจกรรมที่เหมาะสมในการพัฒนาแต่ละชุมชนโดยเฉพาะ”

- ทีมพัฒนาชุมชน GO ONLINE จาก ETDA กล่าว
 

3 พร้อม พาชุมชน GO ONLINE

          การพัฒนาชุมชนด้วยอีคอมเมิร์ซให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยและองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ผู้พัฒนาหรือแม้แต่คนในชุมชนเองถอดใจ และอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและปฏิบัติ แต่แท้ที่จริงแล้วการพาชุมชน GO ONLINE นั้น ไม่ได้ยากเกินความสามารถของผู้มีใจพัฒนา โดย สิ่งที่จะทำให้การพาชุมชน GO ONLINE นั้นประสบความสำเร็จได้เกิดจากความพร้อม 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
CHK_0072.jpg

1. ชุมชนพร้อม

          ชุมชนที่พร้อมพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ พร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่ และพร้อมลงมือปฏิบัติ จะทำให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปอย่างก้าวกระโดด โดยการจะวัดว่าชุมชนนั้นพร้อมหรือไม่ เบื้องต้นอาจทำโดยศึกษาข้อมูลพื้นฐานของชุมชนนั้น ๆ จากงานสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เมื่อทราบข้อมูลพื้นฐานแล้วก็เก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้เข้าใจบริบทต่าง ๆ ของชุมชนให้มากขึ้น โดยการลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์คนในชุมชน เพื่อนำข้อมูลในส่วนนี้มาวิเคราะห์ความพร้อมของแต่ละชุมชน

          จากการดำเนิน โครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) พบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ทำอีคอมเมิร์ซประสบความสำเร็จได้ คือ ความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน กล่าวคือ ผู้นำชุมชนที่มีความสามารถในการรวมกลุ่มและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี มีการบริหารจัดการชุมชนที่เป็นระบบ เข้าใจและรับรู้ถึงความสามารถและข้อจำกัดของคนในชุมชน สามารถบริหารจัดการงานที่เหมาะสมกับความสามารถของคนในชุมชนแต่ละคน คอยให้ความช่วยเหลือและเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ แก่คนในชุมชนได้

สายกลางเงน-ผาไหม_11.jpg

2. สินค้าพร้อม

          การจะเลือกสินค้าของชุมชนมาขายออนไลน์นั้น ควรตรวจสอบความพร้อมของสินค้าก่อนว่า พร้อมและมีศักยภาพในการขายออนไลน์มากน้อยแค่ไหน โดยเบื้องต้นอาจสำรวจจากความพร้อม 3 ข้อ ต่อไปนี้

  1. สินค้ามีคุณภาพ เนื่องจากการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นการขายที่มีข้อจำกัดตรงผู้ซื้อไม่สามารถเห็นสินค้าจริงได้ ชุมชนจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าเพื่อให้ดึงดูดผู้ซื้อออนไลน์ให้ได้ โดยอาจเป็นการผลักดันให้เกิดการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ได้รับการรับรองโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

  2. สินค้าพร้อมส่ง มีศักยภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับยอดการสั่งซื้อออนไลน์ที่อาจเข้ามา เพราะการมีสินค้าพร้อมส่งนั้นถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญในการขายสินค้าออนไลน์ ป้องกันการเสียโอกาสทางการขายจากกรณีสินค้าขาดตลาด

  3. สินค้าขนส่งได้ง่าย ควรเป็นสินค้าที่สามารถจัดส่งได้อย่างสะดวก ไม่แตกหักง่าย หรือในกรณีเป็นสินค้าที่เสี่ยงเสียหายง่ายจากการขนส่งทั่วไป ก็ควรเลือกใช้บริการขนส่งที่เหมาะสม เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เช่น หากเป็นอาหารสด ควรใช้บริการขนส่งห้องเย็น

          ทั้งนี้การขายสินค้าออนไลน์ให้น่าสนใจและดึงดูดผู้ซื้อในตลาดออนไลน์ ยังมีปัจจัยอื่นประกอบร่วมด้วย เช่น เรื่องราวของสินค้า รูปลักษณ์ของสินค้า ความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ

CHK_3614-(1).jpg

3. ระบบนิเวศพร้อม

          อีคอมเมิร์ซไม่ใช่แค่คลิกซื้อแล้วจบ ต้องมี ระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce Ecosystem) ด้วย นั่นคือ การรวมกันของระบบเครือข่ายต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อทำให้การขายสินค้าและบริการออนไลน์เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ครบวงจร โดยควรประกอบด้วย 6 ส่วน ได้แก่

  1. ลูกค้า (Customer) - มีกลุ่มเป้าหมายที่จะซื้อสินค้า โดยต้องเข้าใจถึงลักษณะและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย
  2. ผลิตภัณฑ์ (Product) - มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ มีคุณภาพ และมาตรฐาน
  3. ช่องทางการขายออนไลน์ (Platform) – มีช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม
  4. ช่องทางการรับชำระเงิน (e-Payment) – มีช่องทางบัญชีธนาคารหรือช่องทางการรับชำระเงินออนไลน์หลากหลายรูปแบบ เช่น ผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต Internet Banking หรือ Mobile Banking
  5. ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Network Infrastructure) – มีการให้บริการระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของรัฐหรือเอกชน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง
  6. คลังสินค้าและระบบขนส่ง (Warehouse & Logistics) – มีพื้นที่จัดเก็บสินค้า มีการจัดทำข้อมูลสต็อกสินค้า และมีระบบขนส่งที่สามารถเข้าถึงชุมชนหรืออยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

          ปัจจุบันชุมชนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการสร้างความพร้อมด้านการทำอีคอมเมิร์ซแล้ว แต่ความท้าทายที่เป็น ปัจจัยพื้นฐานด้านอีคอมเมิร์ซ ที่ชุมชนขาดมากที่สุด 4 อันดับ ได้แก่

  1. ด้านช่องทางการขายออนไลน์ – หลายชุมชนยังไม่มีหน้าร้านออนไลน์เป็นของตนเองหรือขาดความรู้ความเข้าใจด้านการขายสินค้าออนไลน์
  2. ด้านผลิตภัณฑ์ – สินค้าของชุมชนส่วนใหญ่ยังต้องพัฒนาให้โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และได้รับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
  3. ด้านการจัดการระบบคลังสินค้า – หลายชุมชนอาจไม่มีระบบการจัดการสินค้าที่ชัดเจน ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขายสินค้าออนไลน์เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา
  4. ด้านช่องทางการรับชำระเงิน – แม้เกือบทุกชุมชนจะมีบัญชีธนาคารกลางของชุมชน แต่ผู้ดูแลจัดการบัญชีในหลายชุมชนยังมีความกังวลในการใช้งานระบบการชำระเงินออนไลน์ หรือ e-Payment

          3 พร้อม ในการพาชุมชน GO ONLINE เป็นเพียงการตรวจสอบความพร้อมของชุมชนในขั้นพื้นฐาน ที่จะช่วยให้ชุมชนหรือผู้พัฒนาชุมชนเข้าใจและรับทราบในเบื้องต้นว่า แต่ละชุมชนมีองค์ประกอบหรือมิติใดที่ต้องพัฒนาหรือควรได้รับการส่งเสริม เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ขายออนไลน์
          นอกจากความพร้อม 3 ข้อที่สำคัญนี้แล้ว อีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ชุมชนประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี คือ MINDSET หรือ “ทัศนคติ” เพราะความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซเป็นเรื่องที่ใหม่ และอาจดูยุ่งยากซับซ้อนสำหรับผู้ที่ไม่มีความคุ้นเคย แต่ทัศนคติที่ดีจะทำให้เรามีกำลังใจในการสู้ มีกำลังใจในการทำงาน เรียกได้ว่า ทัศนคติดีมีชัยไปกว่าครึ่งนั่นเอง

Rating :
Avg: 4.5 (4 ratings)