TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ETDA Team Lead พาเจาะลึกไฮไลต์ ความท้าทาย 4 งาน ปี 67

Digital Trend
  • 09 พ.ย. 66
  • 802

ETDA Team Lead พาเจาะลึกไฮไลต์ ความท้าทาย 4 งาน ปี 67

หลังจากที่เราได้ เปิดแผนปี 67 ติดเทอร์โบ 4 งานตอบโจทย์คนไทย เร่งพัฒนาธุรกรรมออนไลน์ ให้คนไทยชีวิตดีด้วยดิจิทัล ไปกับหัวเรือใหญ่  ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA ในงานแถลงข่าว “TIME TO CHANGE 13 ปี ETDA #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล” เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566  ที่ผ่านมา นาทีนี้ เชื่อว่า คงไม่มีใครไม่รู้ว่า  4 งานไฮไลท์ก้าวต่อไปของ ETDA ในปี 2567 ที่จะเดินหน้าพาคนไทยก้าวสู่โลกอนาคตแห่งการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างมั่นใจ มีอะไรบ้าง…ซึ่งต้องบอกไม่ธรรมดา เพราะนอกจาก ETDA เราจะเพิ่มความเข้มข้นของบทบาทการเป็น Co-Creation Regulator ที่พร้อมคิด พร้อมทำไปด้วยกันแล้ว ยังเตรียมติดเทอร์โบว์ 4 งานเด่นครอบคลุมทั้งเรื่อง

  • การขยายการใช้งาน Digital ID ให้มากขึ้นเพื่อคนไทยเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์  
  • การเพิ่มความเข้มข้นการกำกับดูแล Digital Platform Service (DPS)
  • การส่งเสริมให้เกิดการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล หรือ AI Governance ในระดับองค์กร
  • สุดท้ายคือ การส่งเสริมให้เกิด Digital Adoption & Transformation ให้ภาครัฐและเอกชน พร้อมกับการพัฒนาทักษะคนไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดด้วย

ระดับนโยบายยังเข้มข้นขนาดนี้ ในมุมของ  ETDA Team Lead ที่อยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนงานทั้ง 4 งานจะเข้มข้นขนาดไหน อะไรคือความท้าทายในการทำงาน ปีหน้าจะเดินหน้าต่ออย่างไร อะไรคือ Key Success ที่ทำให้การทำงานสำเร็จตามเป้า หาคำตอบพร้อมกันกับ ETDA Team Lead

ความท้าทายของงาน “กำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล”
ทำอย่างไร? ให้ ธุรกิจแพลตฟอร์มเข้าใจและให้ความสำคัญ
การสร้าง Best Practice  เพื่อบริการที่โปร่งใส เป็นธรรม

เริ่มที่ คุณจิตสถา ศรีประเสริฐสุข ที่ปรึกษา ETDA ผู้แทนกลุ่มงานกำกับดูแลภายใต้กฎหมาย Digital Platform Service หรือที่เราเรียกย่อๆ ว่า กฎหมาย DPS สะท้อนมุมมอง ถึงความท้าทายของงานกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ว่า นับเป็นบทบาทในมิติใหม่สำหรับ ETDA และคนทำงาน เพราะบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดและมีจำนวนมาก จากการศึกษาและทำข้อมูลของทีม พบว่า วันนี้เรามีธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการแก่คนไทยและเข้าข่ายมีหน้าที่ที่ต้องเข้ามาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจกับ ETDA ภายใต้กฎหมาย DPS มากกว่า 737 ราย โดยมีทั้งแพลตฟอร์มสัญชาติไทยและต่างชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่า แพลตฟอร์มบางส่วนก็รู้จัก ขณะที่บางส่วนอีกจำนวนมาก ก็ไม่รู้ว่า แพลตฟอร์มเหล่านั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหนและกำลังประสบปัญหาอะไรอยู่หรือไม่

1-คณจตสถา-ศรประเสรฐสข-ทปรกษา-ETDA.jpg

ก้าวต่อไปของงานกำกับดูแลธุกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก ที่ขาดไม่ได้คือ ต้องทำให้รายชื่อธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องมาแจ้งข้อมูลกับ ETDA มีความชัดเจนมากที่สุด เพื่อให้เข้ามาแจ้งข้อมูลกับ ETDA ได้ทันตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งส่วนนี้สำคัญมาก เพราะการที่กฎหมาย DPS กำหนดให้ต้องมาแจ้งข้อมูล ไม่เพียงทำให้เราได้มีรายชื่อของแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ยังได้รู้ลักษณะการประกอบธุรกิจที่จะนำไปสู่การช่วยกำหนดแนวทางการดูแล ช่วยเหลือ แก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์ม ตลอดจนสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นในการให้บริการร่วมกันได้ ผ่านกลไกในรูปแบบ Self-Regulate ตลอดจนเกิด Best Practice ที่จะช่วยในการยกระดับการให้บริการที่เป็นธรรม โปร่งใสสำหรับผู้ใช้บริการได้เพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากธุรกิจแพลตฟอร์มในปัจจุบันมีจำนวนมาก จึงต้องค่อยๆ ทยอยทำ โดยในระยะแรกนี้ ETDA เราได้มีการศึกษาและหาแนวทางการทำงานร่วมกันกับแพลตฟอร์มที่มีการดำเนินงานซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างกับคนไทยและเป็นที่นิยมใช้กันจำนวนมากก่อน อย่าง แพลตฟอร์ม e-Marketplace  แพลตฟอร์ม Labor Sharing เช่น Food Delivery, Social Media  ก่อนขยายผลไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ส่วนที่สอง ต่อยอดขยายความร่วมมือในการทำงานร่วมกันไปยังหน่วยงานพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพราะการดูแลธุรกิจนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งตอนนี้กฎหมาย DPS ได้วางรากฐานเอาไว้หลายอย่าง และที่สำคัญ การให้บริการของแพลตฟอร์มหนึ่งๆ ได้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ETDA จึงเข้ามาช่วยทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์รวมของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้าย ส่วนที่สาม การยกระดับบทบาทของศูนย์ 1212 ETDA ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางของการรับเรื่องร้องเรียนกลางของปัญหาจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งในมุมของประชาชนผู้ใช้บริการ ตลอดจนปัญหาของผู้ประกอบการที่ไปประกอบธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัล  ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมาย DPS กำหนด เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและเข้าสู่กระบวนการดูแลได้เร็วขึ้นและที่สำคัญศูนย์ 1212 ETDA ก็จะทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนให้กับแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กที่ยังไม่มีความพร้อมและต้นทุนในการบริหารจัดการส่วนนี้ ให้เขาได้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนตามที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการหารือกับธุรกิจแพลตฟอร์ม ตลอดจนการรับเรื่องร้องเรียนจะถูกนำมาเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางการดูแลการให้บริการตลอดจนการใช้บริการแพลตฟอร์มในอนาคตด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นในการให้บริการต่อไป

การจูงใจให้คนไทยใช้ Digital ID เพิ่มขึ้น
ต้องปลดล็อกให้เข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญของการใช้งานให้ชัด
ส่งเสริมให้บริการรัฐที่สำคัญ เชื่อมต่อระบบ เพื่อเกิดการใช้งานที่หลากหลาย

คุณพลอย เจริญสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA ผู้แทนกลุ่มงานกำกับดูแลภายใต้กฎหมาย Digital ID เล่าว่า จากการดำเนินงานส่งเสริมให้คนไทยเกิดการใช้งาน Digital ID ในช่วงที่ผ่านมา เราพบ ประเด็นท้าทายที่ต้องไปต่อมี 3 เรื่องหลัก คือ จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อถือและเลือกที่จะใช้บริการจากผู้ให้บริการที่มี ซึ่งแน่นอนการมีกฎหมาย Digital ID ที่เข้ามาช่วยประเมินและรับรองผู้ให้บริการ Digital ID ก็เป็นหนึ่งกลไกที่จะเข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ได้ ส่วนอีกความท้าทายคือ  เราจะทำอย่างไร ให้ผู้ใช้บริการที่มี Digital ID รู้และเห็นถึงความสำคัญว่าเขาสามารถนำไปใช้กับบริการดิจิทัลไหนได้บ้างและหลากหลายแค่ไหน เพราะการใช้ Digital ID จะมี Impcat ได้จริง ต้องสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายและได้หลายบริการด้วย ID เดียว ที่สำคัญ ต้องปลอดภัย และสุดท้ายคือ จะทำอย่างไรให้มีบริการดิจิทัล ที่เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ Digital ID ที่มากเพียงพอ ซึ่งความท้าทายในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะบริการที่เชื่อมต่อ Digital ID จะต้องไม่จำกัดแค่บริการจากภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องมีบริการจากเอกชนด้วย และเนื่องจากความต้องการในการใช้งานมีความหลากหลาย เราจะทำอย่างไร ให้บริการดิจิทัลที่เชื่อมต่อ Digital ID สามารถเติมเต็มความต้องการได้ตรงจุด สิ่งที่เรามองต่อ คือ เราอาจต้องมาร่วมกันดูว่ามีบริการจากรัฐ เอกชน บริการไหนบ้างที่มีความสำคัญและจำเป็น ที่ต้องเร่งทำให้เกิดการเชื่อมต่อ Digital ID ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ที่สำคัญทุกบริการต้องเชื่อมโยงกัน เพราะวันนี้จะเห็นได้ว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยพร้อมแล้ว

2-คณพลอย-เจรญสม-ผชวยผอำนวยการ-ETDA.jpg

แล้วปีหน้า ETDA จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร? จากสโลแกนของ ETDA กับ #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล คุณพลอย เล่าว่า Digital ID ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่จะเข้ามาทำให้ชีวิตคนไทยเราดีขึ้น แต่อย่างที่บอก วันนี้คนไทยยังมี Pain Point หลักๆ 2 เรื่อง คือ ยังไม่รู้ว่าจะนำ Digital ID ไปใช้ทำอะไรและมีประโยชน์ต่อเขาอย่างไร และยังกลัวว่าการมี Digital ID จะทำให้เขาไม่ปลอดภัย นี่คือ 2 ข้อกังวลที่ต้องเร่งจัดการ
 
อย่างประเด็นแรก ประชาชนมี Digital ID แล้ว แต่ไม่รู้วิธีการใช้ ไม่รู้ว่าจะใช้กับบริการอะไร นอกจากการนำเสนอตัวอย่างการใช้งานเพื่อให้เขาได้เห็นภาพแล้ว สิ่งที่ ETDA และพาร์ทเนอร์เดินหน้าต่อคือ การส่งเสริมและชักชวนให้ผู้ให้บริการที่เป็นบริการที่มีความสำคัญต่อประชาชน ทั้งบริการจากภาครัฐและเอกชน เกิดการเชื่อมต่อระบบกับผู้ให้บริการ Digital ID มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ ง่ายสะดวก
 
ส่วนประเด็นที่ว่า จะใช้ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ ภายใต้กฎหมาย Digital ID ได้กำหนดให้ ETDA มีบทบาทในการเข้ามากำกับ ดูแล ผู้ให้บริการ Digital ID ตามกฎหมาย ทั้งในมุมของการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลโดยคำนึงถึงความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเตรียมผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยี Self-Sovereign Identity (SSI) มาช่วยในการจัดการดูแลข้อมูลที่ทำให้เจ้าของ Digital ID สามารถดูแลจัดการข้อมูลของตนเองได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการมีมี Wallet ในการเข้ามาช่วยเก็บ Digital ID  เก็บ Credential ที่สามารถแชร์ใช้ได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
 
อีกประเด็นคือ การที่ผู้ให้บริการ Digital ID จะให้บริการได้ปลอดภัยนั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีด้วย ในที่นี้หมายถึง มีเครื่องมือที่เขาจะสามารถเอาไปให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น ซึ่งความท้าทายสำหรับผู้ให้บริการ Digital ID ในวันนี้คือ เขาต้องทำหน้าที่ในการพิสูจน์ตัวตนประชาชนอย่างหนัก เพื่อให้มั่นใจว่า นาย ก. คือ นาย ก. จริงๆ  และวันนี้เรามีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service - FVS) ที่เป็นบริการที่ภาครัฐ ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนกระทรวงมหาดไทย และ ETDA พยายามผลักดันให้เกิดการใช้งาน ส่วนนี้ก็จะทำให้ ผู้ให้บริการ Digital ID สามารถให้บริการเราได้ดีขึ้น บนพื้นฐานที่ปลอดภัยมากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างงานที่ ETDA จะไปต่อ

AI Governance กับการนำร่องกลุ่ม Healthcare และ Finance
ด้วย Guideline และ Toolkit  ที่เหมาะสม
คำนึงถึงความรับผิดชอบจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

คุณรจนา ล้ำเลิศ ที่ปรึกษา ETDA จากศูนย์ AI Governance Clinic by ETDA (AIGC) เล่าว่า  AI Governance อธิบายง่ายๆ คือ หลักหรือแนวปฏิบัติของการใช้งาน AI อย่างเป็นธรรม เหมาะสม ซึ่ง AI Governance ที่ศูนย์ AIGC เดินหน้าส่งเสริม ไม่ได้เน้นที่การกำกับดูแลด้วยการออกกฎหมาย  แต่มุ่งร่วมสร้างกรอบมาตรฐาน แนวปฏิบัติที่ดีในการใช้งาน AI ที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมที่ควรจะเป็น เกิดความเหมาะสม ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
 
ภายใต้แผน AI แห่งชาติ ได้มอบหมายให้ ETDA เป็นหนึ่งหน่วยงานหลักที่ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล   ดังนั้น การดำเนินงานของ AIGC เราจึงมีเป้าหมายหลักๆ คือ การทำให้เกิดการประยุกต์ใช้ AI  ที่ลดความเสี่ยง ลดผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้งาน เพราะฉะนั้นการดำเนินงานจึงต้องทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งฝั่งของภาครัฐ เอกชน ในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ หรือ Expert Fellows จากทั่วโลก ที่มาร่วมให้คำปรึกษาและทำงานไปพร้อมๆ กัน เพื่อร่วมสร้าง AI Governance ส่งเสริมให้เกิด  Responsible AI หรือ การประยุกต์ใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้ใช้งาน สังคม สอดคล้องกับหลัก Ethic, Legal และ Social Implication ซึ่งปีนี้ไทยเรามี AI Governance Gulidline แล้ว เพื่อเป็นแนวทางหรือแนวปฏิบัติของการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กรให้มีความมั่นใจว่า เวลาที่จะนำ AI มาประยุกต์ใช้นั้น จะต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้างและต้องเริ่มต้นที่ตรงไหน ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการนำ AI มาใช้ในองค์กร นี่คือตัวอย่างหนึ่งจากผลงานที่เราทำในปีนี้
 
แต่ถ้าถามว่าความท้าทายของการขับเคลื่อนเรื่องนี้คืออะไร จากการสำรวจช่วงที่ผ่านมาของ ETDA พบว่า องค์กรไทยที่มีความพร้อมในการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล มีแค่ 15% เท่านั้น ส่วนอีก 65% มีแผนที่จะเริ่มใช้งานและอยากจะใช้ และที่ยังไม่ได้ใช้ สืบเนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณ ความรู้ความเข้าใจของบุคลากร และขาดการสนับสนุนในระดับ Policy เป็นต้น

3-คณรจนา-ลำเลศ-ทปรกษา-ETDA.jpg

เมื่อรู้แบบนี้ ETDA โดย AIGC เราจะเดินหน้าต่ออย่างไร?  คุณรจนา เล่าว่า เมื่อรู้ว่าองค์กรไทยมีข้อจำกัดอย่างนี้ สิ่งที่เรากลับมามองคือ การสร้าง AI Governance สำหรับไทยการใช้มาตรการของกฎหมายนำหน้าคงไม่ตอบโจทย์ แต่เราต้องเน้นส่งเสริมนวัตกรรม เรียกว่าใช้ Innovation and Promotion เป็นแกนหลัก แล้วดึงเรื่อง Prevention Protection ตาม กล่าวคือ ต้องมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ หน่วยงานต่างๆ ให้มีการนำ AI ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคล่องตัว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องให้การใช้งานเกิดความมั่นใจ ปลอดภัย  นี่คือ Keyword ที่คนทำงานยึดถือ ซึ่งต้องยอมรับว่า ค่อนข้างท้าทายพอตัว เพราะต้อง Balance ทั้งในมุมของ Innovation and Promotion และ Prevention Protection
 
การดำเนินงานจะมุ่งเน้นไปที่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ เน้นการส่งเสริม Innovation ให้เกิดการใช้งาน AI อย่างเหมาะสม พร้อมๆ กับการสร้างความร่วมมือและให้คำปรึกษาภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ AIGC ที่พร้อมด้วย AI Expert ที่มากประสบการณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่จะมาคอยให้คำปรึกษาแก่ทุกองค์กรที่ต้องการจะประยุกต์ใช้ AI แล้วไม่รู้จะเริ่มตรงไหน หรือติดขัดในเรื่องของข้อปฏิบัติ เพื่อให้การใช้งานสอดคล้องกับหลักจริยธรรม หน่วยงานที่สนใจสามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ AIGC ได้ ส่วนการส่งเสริมในมุมของความรู้ก็อัดแน่นไม่แพ้กัน จากปีที่ผ่านมา ที่มีหลักสูตร AiX หรือ AI Executive Program รุ่นที่ 1 สำหรับผู้บริหารในกลุ่ม Healthcare ไปแล้ว ปีหน้าก็เตรียมวางแผนที่จะต่อยอดสู่ AiX รุุ่นที่ 2 ที่ไม่จำกัดแค่ในกลุ่ม Healthcare เท่านั้น โดยจะขยายไปยังกลุ่ม Finance ด้วย เพราะ ETDA มองว่า อุตสาหกรรม 2 กลุ่มนี้ มีความสำคัญและมี Impact กับคนไทยเป็นอันดับต้นๆ และผู้บริหารขององค์กรเป็นกลไกสำคัญที่จะร่วมสร้าง Ecosystem ของการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล รวมทั้งมีการขยายความรู้ในเรื่องของ AI Governance และทำ Workshop ให้แก่ระดับผู้ปฏิบัติงาน และ กลุ่มสอง Research and Development (R&D) เพื่อให้เกิด AI Governance Guideline ที่เหมาะสมกับบริบทของการเปลี่ยนของเทคโนโลยี โดยปีนี้ เรามี AI Governance Guideline ที่เป็นจุดเริ่มต้นในแบบ Gerneral แล้ว อนาคตเราวางแผนจะมี Guideline ในรูปแบบที่เฉพาะมากขึ้น เช่น Generative AI Governance Guideline เป็นต้น ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษา และอีกเรื่องที่เราเตรียมพัฒนา Tools Kit ใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อยกระดับองค์กรไทยจาก 65% ที่กำลังวางแผนจะใช้งาน AI ให้เกิดความพร้อมในการใช้งานมากขึ้น โดยโฟกัสนำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรมด้าน Healthcare, Finance หน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการนำ AI เข้ามาให้บริการประชาชนในวงกว้าง ไปพร้อมๆ กับการขยายผลไปยังกลุ่ม Sector อื่นๆ อย่าง กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาคการศึกษา เป็นต้น ซึ่งการส่งเสริมในเรื่อง AI Governance แน่นอนเราทำคนเดียวไม่ได้ เราจึงทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์กันมาอย่างต่อเนื่อง

เร่งเสริมศักยภาพคนไทย พร้อมรับ Digital Adoption & Transformation
ใช้เทคโนโลนีอย่างมั่นใจ เข้าถึงได้ อย่าง Productive
ต่อยอดเศรษฐกิจฐานราก สู่การยกระดับ Digital GDP ประเทศ

คุณตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA ผู้แทนกลุ่มงาน Digital Adoption & Transformation เปิดเผยว่า หากพูดถึงความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล หลายคนคงคิดว่า วันนี้ไม่เห็นจะท้าทายเลย เพราะใครๆ ก็คุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขของการใช้ดิจิทัล อย่าง การท่องโลกออนไลน์ ที่เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 7-10 ชั่วโมงต่อวัน เรียกว่า แทบจะทุกช่วงเวลาของการทำกิจกรรมในชีวิตเรามีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น แล้ว Digital Transformation ของไทย ติดปัญหาที่ตรงไหนกัน? ต้องถามกลับว่า เวลาหลายชั่วโมงที่เราใช้ดิจิทัล ได้สร้างประโยชน์ต่อประเทศกลับมาหรือไม่  ช่วยเพิ่ม GPD ของไทยเราบ้างไหม และเนื้อหาที่เราเสพและซอฟแวร์ที่เราใช้เป็นของคนไทยหรือเปล่า ต้องยอมรับว่า น้อยมาก เพราะไทยเราเน้นนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่การส่งออกด้านนี้ตัวเลขก็ยังน้อยอยู่  แล้ว Digital GPD ของไทยจะทำอย่างไรต่อ? นี่คือความท้าทายที่ซ่อนอยู่ เพราะแม้เราจะใช้ปริมาณมาก แต่ใช้เสร็จเงินไหลออกนอกประเทศทันที ขณะที่ประเด็นเรื่องของคน ที่สำคัญกับการทำ Digital Transformation มากเพราะใช่ว่าจะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แล้วจบไป แต่คนต้องใช้เป็นและเกิด Productive ด้วย
 
สำหรับในเรื่องทักษะด้านดิจิทัล ได้มีการแบ่ง Skill ไว้ 3 ระดับ ระดับแรก  Basic Skill เปิดใช้เป็น โดยคนไทยอยู่ระดับกลางๆ ประมาณ 18% ระดับที่สอง คือ Standard Skill ใช้แล้วทำงานได้ เริ่มมีประโยชน์มีประมาณ 9.5% และระดับสุดท้าย Advance Skill ที่สามารถทำโค้ดได้ เป็น Data Scientist ไทยเรามีแค่ 1% ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นนัยยะอะไรหลายอย่าง ซึ่งหากไปดู ประเทศสิงคโปร์ หรือ เกาหลีใต้ กลับพบว่า เขามี Standard Skill ที่ 40-50% Advance skill ถึง 10% สูงกว่าไทยเกือบ 5-10 เท่า นี่คือความท้าทายที่แม้อาจมองเห็นไม่ชัด แต่จริงๆ แล้วลึกๆ อาจกลับซ่อนความท้าทายไว้มากมาย ที่สำคัญจากผลการศึกษา คาดการณ์อนาคตของศูนย์ ETDA Foresight พบว่า ถ้าไทยไม่เร่งปิด Gap ความท้าทายในเรื่องนี้อาจเพิ่มขึ้น นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการใช้งานดิจิทัล จึงเป็นเรื่องที่ ETDA ต่างให้ความสำคัญ ขณะที่ประเด็นเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่าง Digital GDP ทราบกันแล้วว่า วันนี้กลไกสำคัญในการเร่งเครื่องเรื่องนี้ คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้ามามีส่วนในการเพิ่ม Digital GDP ให้ประเทศถึง 30% แต่ทราบหรือไม่ว่า ในประเทศที่เขามีความแข็งแรงในเรื่องนี้ อย่าง ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียหรือยุโรป  SMEs ของเขาสามารถสร้าง Digital GDP ได้ถึง 50%  ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะใช้ดิจิทัลเข้าไปช่วย SMEs ไทย ที่เป็นคนตัวเล็กๆ ให้เขาสามารถโตขึ้น ก็เป็นอีกโจทย์ที่ ETDA มอง เพราะถ้าเราเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับ SMEs ได้อย่างมีศักยภาพ ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลไทยได้ด้วย

4-คณตฤณ-ทวธารานนท-ผชวยผอำนวยการ-ETDA.jpg

 
แล้วเราจะไปต่ออย่างไร? คุณตฤณ เผยต่อว่า Digital ถือเป็นตัว Enabler ที่ช่วยติด Springboard ให้กับธุรกิจรวมถึง  Digital GDP ของประเทศให้เติบโตเร็วขึ้น ดังนั้น การจะทำให้ประเทศ ตลอดจน SMEs เกิดการทำ Digital Adoption & Transformation ได้สำเร็จสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การหา  Champion Sectors หรือ Flagship Sector ที่จะพุ่งไปและให้ความสำคัญในการ Transform ซึ่งในมุมของ ETDA มองว่า Champion Sector ที่เรามองเห็น นอกจาก Healthcare และ Finance แล้ว ยังมีกลุ่มท่องเที่ยวด้วย และการเสริมศักยภาพด้านนี้ให้กับพวกเขาก็ไม่ได้จำกัดแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เราต้องเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ต่างๆ ด้วย ซึ่งต้องบอกว่า ปีที่ผ่านมา ETDA เริ่มทำแล้ว อย่างพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่เราเปิดเวที Hackathon เฟ้นหานวัตกรรม เทคโนโลยี ที่เข้ามาตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาชีวิตคนเมืองตลอดจน SMEs ในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนปีหน้าไม่ธรรมดา เราเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เรามองว่าเป็น Flagship เพิ่มเติมอีกด้วย พร้อมๆ กับการสร้างและยกระดับ Digital Skill ให้กับคนไทยทุกภาคส่วน ภายใต้การดำเนินงานของ สถาบัน ADTE by ETDA ร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไปพร้อมๆ กับการเตรียมวางแผนในการเปิดพื้นที่เฟ้นหาเครื่องมือ Digital Platform ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เป็นต้น
 
ทั้งหมดนี้ คือ ทิศทางที่ ETDA จะผลักดันและไปต่อในปี 2567 และต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งแน่นอนการดำเนินในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ที่จะเข้ามาเป็นกลไกในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่ม Digital GDP ของประเทศให้บรรลุตามเป้าหมายได้สำเร็จนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในแต่ละภาคส่วน ที่จะมาร่วมขับเคลื่อนและเร่งเครื่องการทำงานไปพร้อมๆ กับ ETDA เพื่อให้คนไทยทุกคน #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล
 

Rating :
Avg: 5 (1 ratings)