TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

ข่าวประชาสัมพันธ์

ETDA จุดประกายนักเขียนออนไลน์ เขียนได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่ละเมิดเขา

Digital Law Documents
  • 10 มิ.ย. 58
  • 1195

ETDA จุดประกายนักเขียนออนไลน์ เขียนได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่ละเมิดเขา

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center เชิญนักเขียน นักแปล และนักวิชาการด้านกฎหมาย ร่วมถกประเด็น “สร้าง Creative Writer ในยุค Digital Content : ใช้ Freedom of Speech อย่างไรในการเขียนให้ดี ไม่มีล่วงละเมิด” เพื่อส่งเสริมนักเขียนใหม่ให้เข้าสู่วงการน้ำหมึกออนไลน์ โดยรู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตน ย้ำทุกคนมีอิสระในการเขียน แต่ต้องไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่หมิ่นประมาท ไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และไม่ใช้ Hate Speech ที่สำคัญต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา

IMG_0145.jpg

การพูดคุยวันนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณอังสนา ทรัพย์สิน บรรณาธิการหนังสือพอกเก็ตบุ๊ก อีบุ๊ก และโค้ชนักเขียนหน้าใหม่ คุณผ่องศรี ลือพร้อมชัย ที่ปรึกษาสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และ รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดและเปิดมุมมองให้แก่ผู้เข้าร่วม Open Forum โดยมีคุณพลอย เจริญสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ETDA เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในยุคอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถนำงานเขียนของตนมาโพสต์ลงกระทู้หรือเว็ปไซต์ชื่อดังต่าง ๆ เมื่อมีคนติดตามมากขึ้นก็จะมีสำนักพิมพ์ติดต่อไปตีพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็พัฒนาไปอีกก้าวหนึ่งโดยการมี e-Book ที่ช่วยให้งานเขียนแพร่หลายได้มากยิ่งขึ้น ผ่าน Application ต่าง ๆ ทั้งแบบที่ให้อ่านฟรีและเสียค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดนักเขียนหน้าใหม่มากขึ้นและง่ายขึ้น ซึ่งบางครั้งทำให้งานมีคุณภาพลดลง เพราะไม่ต้องผ่านบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ สามารถเผยแพร่ตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ได้เลย

IMG_9992.jpg

การเขียนอย่างไรไม่ให้กระทบต่อสิทธิคนอื่นในเชิงกฎหมาย ตามหลักทฤษฎีหากมี Freedom of Speech ก็มีอิสระที่สามารถเขียนได้ทุกอย่าง แต่ในทางกฎหมายให้ดูข้อจำกัด โดยเฉพาะในเรื่อง “ทรัพย์สินทางปัญญา” “หมิ่นประมาท” “Hate Speech” และ “ข้อมูลส่วนบุคคล” หรือสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งเรื่อง “สื่อลามก” ซึ่งกฎหมายใหม่ที่ออกมาคือ สื่อลามกเด็ก ซึ่งต้องดูนิยามในกฎหมายว่าเขียนอย่างไรไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย

ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจมีการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น หากไม่มี “Creative Commons” ซึ่งเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์ในงานจะอนุญาตให้ใครใช้และให้ใช้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเจ้าของเป็นหลัก ถ้าเจ้าของไม่ให้ใช้ คนที่นำไปใช้ก็ผิด ซึ่งในโลกออนไลน์ การทำซ้ำ ดัดแปลง เกิดขึ้นได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ที่แก้ไขใหม่ออกมา 2 ฉบับ ฉบับแรกเกี่ยวกับภาพยนตร์โดยเฉพาะ ซึ่งให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพในโรงภาพยนตร์มาก ๆ จนออกมาเป็นกฎหมายแก้ไขขึ้นมาและออกบังคับใช้แล้ว ส่วนอีกฉบับหนึ่งที่ยังไม่มีผลบังคับใช้คือลิขสิทธิ์ออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเมื่อเขียนแล้วมีการฝากไฟล์ไว้ตามระบบ Cloud Computing ซึ่งกฎหมายใหม่ได้ให้ผู้บริการมีความรับผิดไปด้วย นอกจากนั้น ยังมีการรองรับในเรื่องมาตรการทางเทคโนโลยีที่ช่วยในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ทำให้ดาวน์โหลดได้ยากขึ้น ต้องมีการใส่รหัส ดาวน์โหลดมาแล้วอ่านได้กี่ครั้ง โดยหากมีการนำมาตรการป้องกันเหล่านี้ออก ก็มีความผิดเนื่องจากเป็นการหลีกเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นเครื่องมือที่เจ้าของลิขสิทธิ์นำมาใช้เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต

IMG_0014.jpg

Hate Speech ถือเป็น Freedom of Speech อย่างหนึ่งในความหมายอย่างกว้าง ซึ่งระดับความเกลียดชัง (Hate) มีตั้งแต่ระดับ 1) ความคิด (Idea) 2) การแสดงความเกลียดออกมา ตั้งแต่พูด เขียน พิมพ์ โพสต์ (Expression of Idea – Speech) 3) การหาพวกหรือแนวร่วมแสดงความคิดเห็น (Persuasion/Collective Hate – Idea, Speech) และ 4) การหาพวกมาลงมือกระทำ (Persuasion/Collective Hate – Action, Violence) ซึ่งกฎหมายจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับระดับ 1 แต่ดูแลในระดับ 4 โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่ถึงขั้นระดมพวกให้มาทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ก็เป็นกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนในระดับ 2 และ 3 ต้องมาชั่งน้ำหนักว่าอย่างไหนเป็น Hate Speech ที่ยอมรับได้หรือไม่ได้

 Hate Speech ต่างกับ หมิ่นประมาท เพราะการทำงานและวัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดยกฎหมายหมิ่นประมาทจะเน้นความเสียหายเฉพาะบุคคล องค์ประกอบคือใส่ความ “ผู้อื่น” ให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่ Hate Speech ไม่ได้คุ้มครองบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ โดยคุ้มครองความสงบเรียบร้อยไม่ให้คนกลุ่มนี้ไปโจมตีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นต่างกัน ในหลายประเทศ กฎหมายกำหนดเหตุแห่งการเกลียดไว้เลย เช่น แคนาดา มีเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว รสนิยมทางเพศที่แตกต่างกัน ซึ่งคดีที่เกิดขึ้นก็จะสะท้อนสิ่งเหล่านี้ ส่วนอังกฤษ ก็มีเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา รสนิยมทางเพศ โดยพยายามสร้างความสมดุลระหว่าง Freedom of Speech และ Hate Speech ห้ามการเขียน พูด พิมพ์ โพสต์ที่ทำให้เกิดการเกลียดชัง แต่ไม่ห้ามในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องมาดูกันอีกว่าระดับไหนถึงเป็นการสร้างความเกลียดชัง ส่วนสหรัฐอเมริกาก็มีในเรื่อง “Fighting Words” หรือคำพูดที่ทำให้คนมาต่อสู้กัน อย่างไรก็ตามก็เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับ Freedom of Speech มากกว่า

สำหรับประเทศไทย ในมุมมองของทางฝั่งนักเขียน เห็นว่าแต่เดิมคนไทยมีความใกล้ชิดกับศาสนา มีศีลข้อที่ 4 ที่ว่าอะไรที่ไม่ดีอย่าพูด การอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ทำให้การวางตัว การดำเนินชีวิต และการปรับตัวอย่างเหมาะสม มีระบบที่ทำให้พูดในสิ่งที่ควรพูด ทำในสิ่งที่ควรทำตั้งแต่ในครอบครัว ปัญหาเกิดขึ้นเพราะการดำเนินวิถีชีวิตตามแบบตะวันตก ซึ่งแนวทางในการกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็น Freedom of Speech หรือ Hate Speech ไม่ควรใช้กฎหมายบังคับ แต่ควรใช้การกำกับดูแลด้วยกันเอง ส่วนทางฝั่งนักวิชาการด้านกฎหมาย เห็นว่า Hate Speech นั้นเป็นที่สนใจในประเทศไทยเพราะปัญหาการเมือง แต่จริง ๆ แล้วกฎหมาย Hate Speech ไม่จำเป็น เพราะถ้าจะยกพวกมาฆ่ากันก็มีกฎหมายอยู่แล้ว จะนิยาม Hate Speech อย่างไรให้ไม่จำกัด Freedom of Speech ซึ่งจะต้องให้ศาลตีความอีก และหากต้องระบุความเชื่อทางการเมืองลงไปอีกก็จะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่พูดถึงเรื่องเชื้อชาติศาสนา และหากใส่ไปจะเป็นการเพิ่มความเกลียดชังมากยิ่งขึ้นหรือไม่ จึงเห็นด้วยกับเรื่อง Self-Regulation หรือธรรมนูญร่วมกันของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตว่า เขียนอย่างไรถึงจะไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น

 ในการเข้าสู่ยุค Digital Content สิ่งที่นักเขียนอยากให้รัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมก็คือ อยากให้ร่วมกันปลูกฝังคนตั้งแต่ระดับเยาวชนในการมีจิตสำนึกที่ดี “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ถ้าทำงานทุกชนิดด้วยความคิดพื้นฐานเช่นนี้ เราจะไม่ล่วงเกินและละเมิดใคร

IMG_0138.jpg

คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA ให้ความเห็นในช่วงท้ายว่า ETDA พยายามคิดนอกกรอบเกี่ยวกับการส่งเสริมให้มีนักเขียน จะเป็น Content ที่เป็นนวนิยาย ละคร เพลง หรืออะไรก็ตาม แม้กระทั่งงานวิชาการต่าง ๆ รวมทั้งนักเขียนหน้าใหม่ ๆ แทนที่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งการเขียนนั้นดีแต่ไม่ได้นำไปสู่การต่อยอดเพื่อให้กลายเป็นมูลค่าเพิ่มทางความคิดและทางความรู้ของคน และต่อไปคงจะพัฒนาต่อในแง่การสำรวจตลาดการเขียนหนังสือว่าทำไมบ้านเราถึงสู้ประเทศอื่นไม่ได้ ทั้งในเรื่องการเพิ่มจำนวนนักเขียน และเพิ่มจำนวน Content ดี ๆ แม้กระทั่ง Content ที่อาจจะคิดต่างออกไปหรือที่เราไม่คุ้นชินจะเพิ่มมากกว่านั้นได้ไหม อย่างน้อยในแง่ที่ว่าความเห็นในมุมต่าง อาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้ในการจุดประกายความคิดของคน ก็เป็นเหตุผลที่ ETDA ช่วยผลักดันเรื่องนี้

ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum ซึ่งในวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2558 จะจัดในหัวข้อ “Fair use: on Copyright - เปิดเพลงในร้านอาหาร, ใช้ภาพจาก Internet, แชร์ link จาก YouTube อย่างไรให้ถูกต้อง” ได้ทาง https://www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)