TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

ข่าวประชาสัมพันธ์

ETDA ร่วมชี้ช่อง ใช้งานลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลอย่างไรให้ถูกต้อง

Digital Law Documents
  • 10 มิ.ย. 58
  • 1615

ETDA ร่วมชี้ช่อง ใช้งานลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลอย่างไรให้ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2558 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center ร่วมกับ สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (MPA) และ สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) ระดมผู้เกี่ยวข้องด้านทรัพย์สินทางปัญญา งานลิขสิทธิ์ และนักวิชาการด้านกฎหมาย เปิดเวทีหาคำตอบ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลอย่างถูกต้อง กับหัวข้อ Fair use: on Copyright “เปิดเพลงในร้านอาหาร, ใช้ภาพจาก Internet, แชร์ link จาก YouTube อย่างไรให้ถูกต้อง

CHK_1081.png

เวทีวันนี้ ได้รับเกียรติจากคุณพิเศษ จียาศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป TECA รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณนุสรา กาญจนกูล หัวหน้าส่วนคุ้มครองลิขสิทธิ์ สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีคุณอุมาศิริ ทาร่อน รองผู้อำนวยการ MPA เป็นผู้ดำเนินรายการ

ลิขสิทธิ์ คือ สิทธิที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งการพิจารณาว่างานใดถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือ 1. “ต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด หรือ Expression of Idea” กฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด (idea) เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นเป็นการคุ้มครอง Style of Expression 2. “งานที่ต้องสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง” โดยใช้ทักษะและแรงงาน ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงวิจารณญาณในการสร้างงานของตน 3. “Type of Work ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์” เช่น การแต่งหนังสือ ถือเป็นงานวรรณกรรมตามบทบัญญัติของกฎหมายลิขสิทธิ์ และ 4. “งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต้องเป็นงานที่สร้างสรรค์โดยถูกต้องตามกฎหมาย” เมื่อครบองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์แล้ว กฎหมายจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์งาน โดยมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Right) ที่จะกระทำการใด ๆ กับงานของตนที่ได้สร้างขึ้น ทั้งการทำซ้ำ ดัดแปลง จดบันทึก เขียน ถ่ายสำเนางานของตน และมีสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน เช่น การเผยแพร่ผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน

ทั้งนี้ การสร้างสมดุลของ Exclusive Right ของผู้สร้างสรรค์งาน สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านหลักการ “การใช้อย่างเป็นธรรม” หรือ Fair Use ซึ่งเป็นการให้สิทธิสังคมในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ซึ่งสำหรับประเทศไทย งานอันมีลิขสิทธิ์ที่สามารถนำหลัก Fair Use มาใช้ได้ เช่น ใช้เพื่อศึกษาวิจัย ใช้เพื่อส่วนตัว ใช้โดยเจ้าพนักงานเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดี คัดลอก ทำสำเนา บางส่วนของงานไปใช้ ในการทำวิทยานิพนธ์ (ถ้านำข้อความมาใช้แล้วก็ต้องมีการอ้างอิงที่เหมาะสมด้วย) นำภาพยนตร์ที่หมดอายุการคุ้มครองไปฉายต่อ ไม่ถือว่าละเมิดงานอื่น ๆ ที่อยู่ในนั้น ถ่ายภาพแล้วติดงานอันมีลิขสิทธิ์อื่นมา ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ในงานอื่น มีข้อยกเว้นของ ISP กรณีที่มีบุคคลไปโพสเนื้อหาอันละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้า ISP ไม่ได้เป็นคนริเริ่มหรือไม่มีส่วนในการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ ISP ไม่ต้องรับผิดในการละเมิดดังกล่าว ทำซ้ำดัดแปลงเพื่อประโยชน์แก่คนพิการ ถ้าไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

CHK_1171.png

ส่วนกรณีตัวอย่างที่เป็นหัวข้อการพูดคุยในเวทีวันนี้

  1. กรณีร้านอาหารเปิดเพลงอันถูกต้องตามลิขสิทธิ์ในร้าน ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะถือเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์
  2. กรณีเปิด YouTube ในร้านอาหาร ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงด้วย เช่น ถ้าเป็นอาคารสำนักงานที่มีคนเข้าออกมาก การเปิด YouTube อาจถือเป็นการเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ แม้ไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่ถ้าการเปิด YouTube ในร้านอาหาร เป็นการเปิดฟังเพื่อความบันเทิงส่วนตัว โดยฟังเองคนเดียว แม้มีลูกค้าได้ยินบ้างไม่ถือว่ามีความผิด
  3. กรณีแชร์ลิงก์ผ่านทาง Facebook
    • ต้องพิจารณาว่า Facebook นั้นตั้งค่าเป็นสาธารณะให้ผู้อื่นสามารถเข้ามาดูได้หรือไม่ นอกจากนี้ถึงแม้ว่าตั้งค่าให้แค่เพื่อนดูได้ แต่ต้องพิจาณาถึงจำนวนเพื่อนด้วยว่ามีจำนวนมากหรือไม่
    • ต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ด้วยว่าเป็นการแชร์เพื่ออะไร
บนเวทียังได้มีการหยิบยกเรื่อง Notice and Takedown ซึ่งเป็นมาตรการ/กลไกในการแจ้งให้ทราบและเอาออก เพื่อให้ ISP นำสิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากอินเทอร์เน็ต หรือดำเนินการต่าง ๆ เพื่อทำให้สาธารณชนไม่สามารถเข้าถึงสิ่งดังกล่าวได้ ซึ่งมีการแสดงความเป็นห่วงถึงขั้นตอนการดำเนินการ Takedown ของประเทศไทยนั้นว่าอาจไม่ทันการณ์และอาจเกิดความเสียหายแก่เจ้าของงานลิขสิทธิ์ เนื่องจากต้องรอหมายศาลก่อนถึงจะทำการ Takedown ได้ แตกต่างจากต่างประเทศที่เมื่อพบการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ISP สามารถ Takedown ได้เลยโดยไม่ต้องรอหมายศาล

นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วม Open Forum โดยวิทยากรได้ฝากให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ พึงระวังหรือตระหนักในการกดไลค์ กดแชร์ ซึ่งอาจสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้ใช้งานอาจไม่รู้ตัวเลย ดังนั้น ควรคลิกปฎิเสธไม่ให้ข้อมูลที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อออกไป หรือการโพสต์เพลงหรือภาพยนตร์ สามารถเขียนข้อความกำหนดห้ามมีการแชร์ต่อได้ หรือการตั้งค่า Disable Notification ใน Social Media เพื่อป้องกันการแชร์ Activity ซึ่งอาจสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัวก็ได้ เป็นต้น

นอกจากมาตรการทางกฎหมายในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว อีกเครื่องมือที่ควรคำนึงถึงและนำมาใช้งานคือ “หลักการเป็นบรรษัทธรรมาภิบาล (Good Governance)” เมื่อบริษัทได้ประกาศนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว การโฆษณาบนเว็บไซต์ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เจ้าของบริษัท เจ้าของสินค้าก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย โดยการไม่สนับสนุนต่อการกระทำความผิดกฎหมาย รวมทั้งผิดจริยธรรม ดังนั้น บริษัทเหล่านี้ไม่ใช่คิดถึงแต่จำนวนยอดเข้าชมของลูกค้าที่เห็นโฆษณาของตน โดยไม่สนใจว่า ไปโฆษณาสินค้าของตนในเว็บที่มีเนื้อหาที่ล่อแหลม (High Risks Advertisement) ไม่เหมาะสม เพื่อดึงดูดจำนวนคนดูเว็บ (Eyeball) มาก ๆ ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงต้องกำชับกับเอเยนซีในการทำกลยุทธ์โฆษณาอย่างมีจริยธรรมด้วย 

ในการนี้ คุณวรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการ ETDA ได้อัปเดตความคืบหน้าการทำงานของ ICANN องค์กรที่ดูแลอินเทอร์เน็ตโลกว่าแนวโน้มของโครงสร้างการบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตของโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป อันจะเกิดเป็นเฟรมเวิร์กใหม่ ที่อาจต้องอาศัยหลัก Community Base เป็นหนึ่งในมาตรการรองรับการดำเนินงาน

CHK_1082.png

ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum ซึ่งในวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2558 จะจัดในหัวข้อ “อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์กับความร่วมมือระหว่างประเทศ” ได้ทาง https://www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th
 

Rating :
Avg: 5 (1 ratings)