TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

ข่าวประชาสัมพันธ์

ETDA แถลงผล ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศไทยอย่างไร

Foresight Documents
  • 05 ก.ย. 64
  • 3427

ETDA แถลงผล ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศไทยอย่างไร

ในยุคที่การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบาย ร่นระยะเวลาในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องเดินทาง และยังก้าวข้ามขีดจํากัดแค่ไม่กี่วินาทีเพียงคุณมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต จะดีแค่ไหนถ้ามีหน่วยงานเข้ามาดูแลคุ้มครองและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างมั่นคงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัลนี้ ที่ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
 
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือได้ว่า เป็นกําลังหลักที่สำคัญในการดูแลและสนับสนุนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือที่เรารู้จักว่า ธุรกรรมตัว e ในยุคดิจิทัลแบบนี้ นอกเหนือจากคําว่า e-Commerce ที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีธุรกรรมตัว e อีกจำนวนมาก เช่น e-Transaction e-Tracking e-Signature และอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับคุณในการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนแล้ว
 
นำมาสู่ "การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์" ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งได้จัดเวทีแถลงผลการศึกษา ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างไร เมื่อวันพุธที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

ชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า รายงานการวิจัยและฐานข้อมูลสาคัญ ตลอดจนข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่ได้จากการศึกษาในช่วงกว่า 240 วันของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา โดยเฉพาะความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับ ETDA ที่จะได้นำเสนอต่อ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่เป้าหมายที่ทั้งประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

20210901_Economic-and-Social-Impact-Study-e-Transaction-005.jpg

  • กว่า 240 วันที่ดำเนินการศึกษา
  • ได้ทำการศึกษาประเทศต้นแบบที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยนโยบาย Go Digital 4 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน
20210901_Economic-and-Social-Impact-Study-e-Transaction-006.jpg
  • มุ่งเน้นภาคประชาสังคมและ 8 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
  • จัดประชุมระดมความคิดเห็น 10 กลุ่ม โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 300 ราย
  • มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม มากกว่า 4,000ตัวอย่าง และ
  • ทำการสำรวจเชิงพื้นที่ครอบคลุม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศในภาคประชาสังคมกว่า 20 หน่วยงาน
เพื่อได้มาซึ่งข้อมูลป้อนเข้าอันมีความน่าเชื่อถือสำหรับการประมวลผลด้วยแบบจําลอง CGE โดยใช้เครื่องมือ GTAP10 และแบบจําลอง SROI เพื่อค้นหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอันเกิดจากการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
 

ข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยครั้งนี้

ข้อค้นพบสำคัญ คือ กลไกการใช้งานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ในภาคธุรกิจมักเริ่มจากการดำเนินธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีการปรับตัวสู่ระบบดิจิทัล ร่วมกับการประยุกต์ใช้กับกรอบการดำเนินตามมาตรฐานสากลต่าง ๆ ที่ใช้ในแต่ละกิจการ

 
ในขณะที่ภาคประชาสังคมมักเริ่มต้นจากองค์ความรู้ด้านดิจิทัลที่ใช้ในการทำธุรกรรมด้านการเงินออนไลน์หรือ e-Transaction ร่วมกับการซื้อขายบนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce

20210901_Economic-and-Social-Impact-Study-e-Transaction-037.jpg

ขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ใน 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ประมาณร้อยละ 0.27 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ คิดเป็นมูลค่า 42,831 ล้านบาท

ในขณะที่การวิเคราะห์ผลกระทบเชิงสังคมที่เกิดขึ้นนั้นพบว่า สามารถสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นได้ 1.02 เท่า หรืออาจกล่าวโดยง่าย ๆ คือการลงทุนในธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกหนึ่งบาท จะสร้างประโยชน์หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมได้เท่ากับ 1.02 บาท

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจประกันภัย ส่วนหนึ่งนั้น มาจากความพร้อมในการปรับตัวของผู้ประกอบการและการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากบริบทแวดล้อม อาทิ การเติบโตของผู้ประกอบการ Startup ที่พัฒนาแพลตฟอร์มด้านธุรกิจประกันภัยออกสู่ตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้รับอานิสงส์การสร้างอัตราเร่งใช้บริการอย่างก้าวกระโดดในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19

ภาคการผลิตประโยชน์ของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อาจไม่ได้มีสูงมากนัก เนื่องจากการลงทุนในธุรกรรมดังกล่าวตั้งแต่ระบบบริหารจัดการโรงงาน สต๊อก การขาย จำเป็นที่ต้องใช้การลงทุนที่สูง และมีเวลาที่ยาวนานกว่าจะได้กำไรกลับคืนมาจากการลงทุนดังนั้นผลกระทบจึงยังคงอยู่ในระดับที่น้อยที่สุด

ภาคการขนส่ง และค้าปลีกค้าส่ง แม้ไม่ได้รับผลกระทบเชิงบวกที่มากนักเมื่อเทียบกับภาคบริการอื่น ๆ แม้ปัจจุบันการขยายตัวจะมีการขยายตัวที่สูงของอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย รวมทั้งการขนส่งสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ผลดังกล่าวอาจมาจากการที่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้ทั้งในภาคบริการ และการผลิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการที่ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัว อาจส่งผลให้มีการนาเข้าสินค้าและบริการจากภาคค้าปลีกค้าส่ง และเพิ่มการใช้บริการจากภาคขนส่งมากยิ่งขึ้น การนำเข้าที่สูงขึ้นนั้น ส่งผลให้มูลค่าเพิ่มจากการผลิตและบริการภายในประเทศลดลงได้เป็นสำคัญ
 
ในทางกลับกันมีอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงลบหรือเชิงถดถอยอัน ได้แก่ ธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ที่แนวโน้มของการบริโภคแบบดั้งเดิมลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การสร้างมูลค่าเพิ่มจากสื่อดิจิทัลไม่สามารถแข่งขันให้เกิดผลตอบแทนได้มากเท่าเดิม
 
อีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงถดถอย ได้แก่ ธุรกิจด้านการบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสถาบันการเงิน ด้วยความอิ่มตัวของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคใช้กันอย่างเคยชิน การขาดหายไปของรายได้และค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมแบบดั้งเดิม หรืออย่างธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับ SMEs ที่เป็นธุรกิจแบบครอบครัว แทบจะยังไม่มีการปรับตัวมาใช้ในธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เลยตรงกันข้ามกับอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่าง Developer อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ที่วันนี้ปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
 
อีกหนึ่งธุรกิจบริการที่สำคัญ ได้แก่ ธุรกิจโรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพที่เต็มไปด้วยข้อจํากัดทางกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
 
ผลกระทบในภาคประชาสังคมนั้น แม้เทคโนโลยีในประเทศไทยจะพัฒนาไปมากเพียงใดก็ตาม อีกหนึ่งกลุ่มสำคัญและไม่ควรถูกลืมจากสังคมนั่นก็คือ กลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มประชากรพื้นที่ชายขอบ และกลุ่มผู้พิการ ให้ได้รับการเข้าถึงการใช้งานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม

ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจระบบเปิดในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการที่มีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย และทรัพยากรการผลิตมีรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าและบริการสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว การค้าเสรีแม้จะทำให้สวัสดิการของคนไทยภายใต้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้น ก็อาจนำพาระบบเศรษฐกิจเข้าไปสู่ภาวะความเสี่ยงที่สาคัญ อันได้แก่ ความสามารถในการส่งออก รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจอาจไม่เจริญเติบโตให้เท่าเทียมกับการนำเข้า อันเกิดจากการเติบโตของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

20210901_Economic-and-Social-Impact-Study-e-Transaction-053.jpg

การขับเคลื่อนของ ETDA ในระยะถัดไป

ในการขับเคลื่อนตามแผนดิจิทัลของประเทศเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคม มีการใช้งานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นในบริการที่หลากหลาย ETDA จะมุ่งเน้นสนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงนโยบายผ่านการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลกใน 4 ส่วนหลัก

1. สนับสนุนให้เกิดการสร้างสภาพแวดล้อมที่รองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ 5 ประการ ได้แก่

1) ผลักดันให้เกิดการพัฒนามาตรฐานและกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอํานวยความสะดวกในการทำธุรกรรมภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เป็นธรรมและแข่งขันได้
2) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาบุคลากรและการศึกษาวิจัยเชิงนโยบาย รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล
3) ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ลงทุนด้านระบบความมั่นคงปลอดภัย การรับเรื่องร้องเรียนเพื่อแก้ปัญหากรณีพิพาทบนโลกออนไลน์
4) สนับสนุนให้เกิดการ Transformation ของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสู่การทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์สารสนเทศ และระบบซอฟต์แวร์ต่าง ๆ
5) สนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคม รวมทั้ง Trust & Security Infrastructure สำคัญ ๆ ให้ครอบคลุมการเข้าถึงของทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ

20210901_Economic-and-Social-Impact-Study-e-Transaction-055.jpg

2. คู่ขนานการเป็นศูนย์กลางข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกําหนดนโยบายและทิศทางของประเทศ รวมถึงให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนา e-Office การเชื่อมโยงแพลตฟอร์มนําเข้าส่งออก การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
3. ขยายการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า อย่างอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ กิจการด้านสุขภาพและสถานพยาบาล และอุตสาหกรรมการจัดประชุมและนิทรรศการหรือ MICE
4. ขยายการเข้าสู่ภาคประชาสังคม กลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มประชากรพื้นที่ชายขอบ และกลุ่มผู้พิการ

20210901_Economic-and-Social-Impact-Study-e-Transaction-056.jpg

20210901_Economic-and-Social-Impact-Study-e-Transaction-057.jpg

ชาติชาย ฝากไว้ว่า ETDA ตั้งใจและมุ่งมั่นในการร่วมทำงานกับทุกภาคส่วนในลักษณะเป็น Smart Partner เพื่อแก้โจทย์ แก้ข้อติดขัด แก้ประเด็นปัญหาที่แต่ละภาคส่วนพบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การให้บริการของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากที่สุด

หากเกิดข้อติดขัดเรื่องระบบ กฎหมาย มาตรฐาน หรือการประสานความร่วมมือใด ๆ สามารถเข้ามาพูดคุยกับ ETDA โดย ETDA จะช่วยประสานเชื่อมต่อหรือหา Solution และวิธีการที่จะทำให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ 

ชมคลิปย้อนหลัง เวทีแถลงผล ที่นี่
ดาวน์โหลดสไลด์ ที่นี่ 

ETDA มุ่งเน้นสนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงนโยบายผ่านการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก

Rating :
Avg: 5 (1 ratings)