TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ใช้บริการ VDO Streaming ยังไง ให้ Secure

e-Commerce Documents
  • 01 ก.ค. 64
  • 10683

ใช้บริการ VDO Streaming ยังไง ให้ Secure

หลังจากที่เราได้รู้จักกับภาพรวมของ Digital Service” ใน Digital Service อะไร ยังไง ว่าไป กันไปแล้ว วันนี้ ETDA จะพาไปเจาะลึกกับหนึ่งบริการดิจิทัลเซอร์วิส ที่ถือว่ามาแรงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคนี้ ทั้งในแง่ของการเติบโตของธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมผู้ใช้งาน กับ บริการด้านไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) อย่าง VDO Streaming Content” หรือ “บริการวิดีโอสตรีมมิง” นั่นเอง
 

รู้จักบริการ “วิดีโอสตรีมมิง”

การเข้ามาของโลกอินเทอร์เน็ต สมาร์ตโฟน รวมทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ชมให้เปลี่ยนจากการรับชมละครหรือภาพยนตร์ผ่านสื่อหลักอย่างโทรทัศน์หรือ Free TV เป็นการรับชมบนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือ Smart TV ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยบริการวิดีโอสตรีมมิงประเภทนี้ เรียกว่า บริการรูปแบบ OTT หรือ Over-The-Top
 
OTT คือ บริการรับชมวิดีโอตามความต้องการ (Video on Demand) ผ่านระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์และรับชมได้ในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ชมได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้ผู้ชมสามารถเลือกรับชมในสิ่งที่สนใจและต้องการได้ด้วยตัวเอง เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้คนเกือบทั่วทุกมุมโลก โดยจากผลสำรวจ Global Digital 2021 ที่ทำการสำรวจโดย We Are Social พบว่า ปัจจุบันผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 90.6% ดูโทรทัศน์ออนไลน์และใช้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง และใช้งานโดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 24 นาที/วัน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมออนไลน์อันดับ 1 ที่คนนิยมทำมากที่สุด และประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรับชมวิดีโอสตรีมมิงออนไลน์มากที่สุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ อันดับที่ 1 เม็กซิโก (92%) อันดับที่ 2 อาร์เจนตินา (91.3%) และ อันดับที่ 3 บราซิล (89.4%)


1.png2.png
(ผลสำรวจ Global Digital 2021 โดย We Are Social)
 
“ ธุรกิจในกลุ่มบริการวิดีโอสตีมมิงถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจมาแรงที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังเป็นไม่กี่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19”
 
ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ผู้คนทั่วโลกต่างมีความจำเป็นที่จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ตลอดจนมีมาตรการ Lockdown ในหลายเมืองของหลายประเทศ วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจบริการวิดีโอสตรีมมิงเป็นอย่างมาก โดยอัตราการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากข้อมูลของ Justwatch แพลตฟอร์มที่ให้บริการรวบรวมผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงในหลายประเทศ เผยว่า ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกแรก เดือนมีนาคม 2563 จำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงในหลายประเทศมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประเทศสเปน เพิ่มขึ้น 84.98% อิตาลี เพิ่มขึ้น 76.63% อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 50.89% ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่สูงมากในระยะเวลาอันสั้น (ผลสำรวจเปรียบเทียบระหว่างช่วงวันที่ 14-15 มีนาคม กับ วันที่ 7-8 มีนาคม 2563)
 

“การเปลี่ยนแปลง” นำมาสู่ “การแข่งขัน” ในกลุ่มผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิง

ปัจจุบันผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงทั่วโลกมีหลากหลายเจ้าด้วยกัน โดยเจ้าใหญ่ที่กินส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจในกลุ่มนี้ได้มากที่สุด คือ Netflix (เน็ตฟลิกซ์) จากสหรัฐอเมริกาที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 ด้วยจุดเด่นสำคัญคือการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ซีรีส์ และรายการที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศ มารวบรวมไว้ในแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งมีการแปลซับไตเติ้ลเป็นภาษาต่าง ๆ ตามภูมิภาคที่แพลตฟอร์มให้บริการ ส่งผลให้สามารถครองใจผู้ชมได้ทั่วโลกจนมีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 150 ล้านราย ในปี 2562 กินส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 38% ของผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงในรูปแบบ OTT

โดยมีการคาดการณ์จาก Statista ว่า ในปี 2564 Netflix จะสามารถสร้างรายได้มากถึง 71,236 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท) สำหรับผู้ให้บริการที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดรองลงมา อันดับที่ 2 ได้แก่ Hulu (15%) แพลตฟอร์มที่เป็นบริษัทลูกของ Disney นำเสนอเนื้อหาคอนเทนต์ที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ที่มีเรตคอนเทนต์สูงกว่า Disney Plus อันดับที่ 3  ได้แก่ Prime Video (14%) ของยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon และอันดับที่ 4 HBO เจ้าของแอปพลิเคชัน HOB Now, HBO Go และ HBO Max (5%)
 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวมทั้งความต้องการที่มากขึ้นของผู้ชม ส่งผลให้ผู้ให้บริการหลายเจ้าเร่งพัฒนาระบบการใช้งานรวมถึงสร้างเอกลักษณ์ของแพลตฟอร์มตัวเองเพื่อที่จะกินส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มธุรกิจนี้ที่ยังถือว่ามีผู้เล่นเพียงน้อยรายเท่านั้น โดยนอกจากการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือรายการที่ได้รับความนิยมแล้ว การร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกับทีมผู้สร้างซีรีส์หรือภาพยนตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อผลิตคอนเทนต์ของแพลตฟอร์ม (Original Content) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่หลายแพลตฟอร์มนิยมทำเช่นกัน
 
นอกจากนี้ เรายังจะมีโอกาสได้เห็นผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์หลายเจ้าที่เริ่มก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงแล้วเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Disney ยักษ์ใหญ่แห่งวงการภาพยนตร์เจ้าของลิขสิทธิ์รายการต่าง ๆ มากมาย ก็เพิ่งเปิดให้บริการ Disney Plus ที่รวบรวมคอนเทนต์มากมายซึ่งเหมาะสำหรับเด็กไว้ในแพลตฟอร์ม การแข่งขันดังกล่าวนี้นอกจากจะทำให้ผู้ชมมีตัวเลือกในการรับชมวิดีโอคอนเทนต์ทั้งเก่าและใหม่ที่หลากหลาย และมีคุณภาพความคมชัดของทั้งภาพและเสียงเป็นอย่างมาก ยังถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
 
3.png
(ส่วนแบ่งตลาดผู้ให้บริการ OTT จากรายได้ของค่าสมาชิกที่ติดตามแพลตฟอร์ม ปี 2019:
รายงานวิเคราะห์พฤติกรรมการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดย สำนักงาน กสทช.)
 

ความนิยมของ “บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง” ในประเทศไทย

สำหรับ ประเทศไทย การรับชมโทรทัศน์และบริการวิดีโอสตรีมมิ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นกัน จาก รายงานผลการสำรวจพฤติิกรรมผู้้ใช้้อิินเทอร์์เน็็ตในประเทศไทย ปี 2563 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า กิจกรรมที่คนไทยทำบนโลกออนไลน์อย่างการดูโทรทัศน์/ดูหนัง/ฟังเพลงออนไลน์ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นว่าปีก่อน จาก 71.2% เป็น 85% และถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตอันดับที่ 2 ที่คนไทยทำบนโลกออนไลน์ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นทุกปี
 
4.png
(ภาพเปรียบเทียบกิจกรรมออนไลน์ยอดนิยมของคนไทย ระหว่างปี 2017 – 2020
จาก
รายงานผลการสำรวจพฤติิกรรมผู้้ใช้้อิินเทอร์์เน็็ตในประเทศไทย ปี 2563)
 
ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงที่ให้บริการในประเทศไทยกว่า 20 แพลตฟอร์ม เช่น Netflix, iflix, Prime Video, Apple tv, HBO GO, iQiyi, Viu, Line TV โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก ในปี 2563 (ในรูปแบบบริการ OTT) ได้แก่ อันดับที่ 1 YouTube (99.1%) อันดับที่ 2 Netflix (55.6%) อันดับที่ 3 Line TV (51.9%) อันดับที่ 4 VIU (24.6%) และอันดับที่ 5 True ID (21.5%) นั่นเอง
 
5.png
(ภาพร้อยละแพลตฟอร์มที่ผู้ตอบแบบสำรวจใช้ดูโทรทัศน์/คลิป/ดูหนัง/ฟังเพลงทางออนไลน์
จาก
รายงานผลการสำรวจพฤติิกรรมผู้้ใช้้อิินเทอร์์เน็็ตในประเทศไทย ปี 2563)
 

ฉลาดรู้เน็ต: ใช้บริการบริการวิดีโอสตรีมมิ่งอย่างไร ให้มั่นคงปลอดภัยหายห่วง

การเติบโตและความนิยมของการใช้บริการวิดีโอสตรีมมิงที่เพิ่มสูงขึ้นจนแทบจะเป็นช่องทางหลักในการรับชมวิดีโอคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ ของคนทั่วโลก ที่นอกจากจะนำพามาซึ่งความสะดวกสบายแบบ “เลือกเองได้” แล้ว แน่นอนว่าการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ผู้ใช้ต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยหรือ Security เป็นหลัก ไม่เว้นแม้แต่การบริการวิดีโอสตรีมมิง ETDA จึงขอนำเสนอทริคดี ๆ ทำได้ง่าย ๆ อย่าง “ดูหนังออนไลน์ให้มั่นคงปลอดภัย กับ พฤติกรรม 3 ไม่” ได้แก่

20210629_OEC-Article_VDOSTREAMING_IG-Cover-copy_0.jpg

1. ไม่เข้า เว็บเถื่อน – อย่าลืมว่าของฟรีไม่มีในโลก การรับชมภาพยนตร์หรือวิดีโอสตรีมมิงผ่านบริการเว็บไซต์ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงและความเสียหายต่อผู้ชมแบบคาดไม่ถึง เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้เต็มไปด้วยอันตรายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงที่จะถูกล้วงข้อมูลผ่านการเข้าใช้งาน ความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีผ่านเว็บไซต์ ความเสี่ยงที่จะถูกพาไปเข้าถึงเว็บไซต์หลอกลวงหรือฟิชชิง ซึ่งผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังโดนโจมตีหรือโดนโจรกรรมข้อมูลสำคัญของตัวเองอยู่

นอกจากนี้การรับชมภาพยนตร์หรือวิดีโอคอนเทนต์ผ่านเว็บไซต์เถื่อนยังผิดกฎหมายและยังเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยเฉพาะผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของผู้ชมและเพื่อไม่สร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตภายนตร์ การรับชมผ่านช่องทางที่ถูกลิขสิทธ์ จึงถือเป็นเรื่องที่ควรทำและต้องทำมากที่สุดนั่นเอง

2. ไม่แชร์ Password – ถึงแม้ว่าการแบ่งปันจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การแบ่งปันพาสเวิร์ดหรือรหัสผ่านการเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ กับผู้อื่นนั้น ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งเรื่องของอัตลักษณ์ตัวตน (Identity) และต่อทรัพย์สินของเราได้เช่นกัน เพราะการให้พาสเวิร์ดเข้าถึงบัญชีการใช้งานที่เราได้ทำการยืนยันตัวตนผ่านข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ บัตรประชาชน บัตรเครดิต หรือธุรกรรมอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการยินยอมให้บุคคลอื่นสามารถเข้าถึงและใช้บริการออนไลน์ต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นเรา (เจ้าของบัญชี)

เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้ที่แชร์พาสเวิร์ดเราไปใช้ จะนำข้อมูลที่ล่วงรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร และหากมีการนำไปแชร์ต่อให้ใครที่อาจเป็นผู้ไม่ประสงค์ดีอีก ก็อาจจะนำพาความเสียหายให้แก่เจ้าของบัญชีเป็นอย่างมากได้ เพราะฉะนั้น อย่าให้คนอื่นมาสวมรอยเป็นเราผ่านการให้พาสเวิร์ด ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใดก็ตาม และไม่ควรขอยืมบัญชีการใช้งานผู้อื่นเพื่อใช้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่นกัน

3. ไม่ลืม อ่านข้อตกลงผู้ให้บริการ –ในขั้นตอนของการสมัครสมาชิกเพื่อเข้าใช้บริการของแทบจะทุกแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์จะมีการแจ้งนโยบายการให้บริการของแพลตฟอร์ม โดยทั่วไปมักจะมีเนื้อหาที่ยาวและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ทำให้บ่อยครั้งที่ผู้ใช้งานมักจะมองข้างและกด ยินยอม/ยอมรับ ทั้งที่ไม่ได้ศึกษากฎ ระเบียบ ข้อตกลง ที่จะเกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้งานเสียก่อน ในความเป็นจริงแล้วเราควรศึกษาข้อตกลงดังกล่าวและคิดไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน เพราะเมื่อเกิดความเสียหายไม่ว่าจะทางข้อมูลหรือทรัพย์สินจากการใช้บริการ เราอาจจะไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากผู้ให้บริการได้เลย หากเราไม่ศึกษาสิ่งเหล่านี้เสียก่อน  

ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้จะมีการให้บริการ Digital Service มากมายเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของเราและทำให้เรามีทางเลือกและความสะดวกสบายต่าง ๆ มากขึ้น แต่เรื่องความมั่นคงปลอดภัยของการใช้งานก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรมองข้ามหรือละเลยไปแม้แต่วินาทีเดียว เพราะทุกวันนี้ “โจรในโลกออนไลน์ เยอะกว่า โจรในชีวิตจริง” ที่นำมาซึ่งความเสียหายมากมายให้แก่บุคคลและองค์กรทั่วโลกอย่างประเมินมูลค่าไม่ได้ในทุกวัน
 
ที่มา:
รายงานผลการสำรวจพฤติิกรรมผู้้ใช้้อิินเทอร์์เน็็ตในประเทศไทย ปี 2563
รายงานวิเคราะห์พฤติกรรมการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
ในยุคที่ใครเร็ว…ชนะ! หายนะ Covid-19 จึงมาพร้อมกับโอกาสธุรกิจ Video Streaming
Digital Global 2021 Overview Report
 

Rating :
Avg: 5 (3 ratings)