TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

ข่าวประชาสัมพันธ์

ETDA เตรียมเปิด Hearing ชวนทุกภาคส่วนร่วมแสดงความเห็น เสนอแนะ ต่อกฎหมายดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล 15 ก.ค. นี้

Digital Law Documents
  • 06 ก.ค. 64
  • 4337

ETDA เตรียมเปิด Hearing ชวนทุกภาคส่วนร่วมแสดงความเห็น เสนอแนะ ต่อกฎหมายดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล 15 ก.ค. นี้

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .… รอบแรก กลุ่มคณะกรรมการ อนุกรรมการ หน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เสร็จสิ้นแล้ว เตรียมเดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็น รอบ 2 กลุ่มทั่วไป 15 ก.ค. นี้ ทางออนไลน์
 
การจัดทำ Digital Standard Landscape เพื่อให้เกิดแผนภาพของธุรกิจบริการดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการส่งเสริมธุรกิจบริการเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ พร้อมกับการเสนอแนะมาตรฐาน ตลอดจนกฎหมายในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและความมั่นคงปลอดภัยนั้น คือหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ ETDA เดินหน้าขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) นั้น มาตรา 32 กำหนดให้มีการตราเป็นกฎหมายลูกระดับพระราชกฤษฎีกาเมื่อมีความจำเป็นตามที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมา ETDA จึงได้ทำการศึกษาแนวทางในการกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจาก stakeholder ต่าง ๆ โดยเน้นไปที่กลุ่ม e-Commerce, Sharing Economy และ Streaming Platform พร้อมทั้งนำข้อมูลสถิติทีได้รับจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC มาประกอบ โดยพบว่า ที่ผ่านมาผู้บริโภค ตลอดจนผู้ประกอบการที่เป็นผู้ค้าบนแพลฟอร์มได้รับผลกระทบจากปัญหาการซื้อขายของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น การแสดงรายละเอียดของสินค้า หรือบริการที่ไม่ชัดเจน การจำกัดตัวเลือกในการขนส่ง ได้รับสินค้าล่าช้า มีความเสียหาย ไม่ตรงปก การฉ้อโกง ผู้ขายไม่สามารถทำตามคำสั่งจองได้ ราคาไม่เป็นธรรม ขณะที่ระบบการช่วยเหลือ รับแจ้งร้องเรียนไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้า และที่สำคัญคือ ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

1212OCC_may.jpg

ในขณะเดียวกันในฝั่งของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเองก็อยากให้มีมาตรฐานหรือแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนของหน่วยงานรัฐเช่นกัน และปัญหาที่สำคัญอีกประการคือแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มาจากต่างประเทศ อาจไม่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งหรือมีตัวแทนในไทย ทำให้การติดตามประสานงานเมื่อเกิดข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาทเป็นไปโดยยาก รวมถึงก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการคุ้มครองผู้ใช้งานระหว่างผู้ประกอบการต่างชาติและผู้ประกอบการไทย

ดังนั้น เพื่อการแก้ไขปัญหา (Pain Points) ข้างต้นให้มีประสิทธิภาพ ETDA จึงได้ดำเนินการการศึกษาตัวอย่างกฎหมายที่มีการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลและธุรกิจบริการดิจิทัลจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องนี้หลายฉบับ เช่น กฎหมาย Platform-to-business regulation (P2B regulation) ที่จะดูแลการให้บริการของผู้ให้บริการสื่อกลางออนไลน์ (Online Intermediation Services) กับผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม (Business user), ร่างกฎหมาย Digital Services Act (DSA) และ Digital Markets Act (DMA) ที่อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมาย รวมถึงกฎหมายของญี่ปุ่นที่ดูแลความโปรงใสและความเป็นธรรมในความสัมพันธ์ระหว่าง platform กับ business user เช่นเดียวกัน จนนำมาสู่การจัดทำแนวทางการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทย เกิดเป็น (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .… ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการควบคุม ดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ มีการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม ส่งเสริมต่อยอดให้เกิดการพัฒนามาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการให้บริการให้เท่าเทียมกันอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การยกระดับวิถีชีวิตด้วยดิจิทัล สู่การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ หัวใจหลักจะเน้นที่การดูแลมาตรฐานการให้บริการที่มีความเป็นธรรม (Fairness) โปร่งใส (Transparency) และมีการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้มีการนิยามของคำว่า บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ว่า จะต้องเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ business user และผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในการเสนอสินค้า บริการ หรือทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง พร้อมมีการกำหนดให้ แพลตฟอร์มในลักษณะข้างต้น จะต้องแจ้งให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ทราบก่อนประกอบธุรกิจ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามตรวจสอบในกรณีเกิดปัญหาจากการใช้บริการต่าง ๆ และหากผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ใช่สัญชาติไทย แต่มีการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในไทย จะต้องมีตัวแทนในไทย ทำหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มและผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและดูแลไม่ต่างจากแพลตฟอร์มสัญชาติไทย เช่น จะต้องจัดช่องทางการร้องเรียน พร้อมมีแนวทางในการระงับข้อพิพาทที่เหมาะสม รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีมาตรการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจ ตลอดจนจะต้องมีความชัดเจนในการแสดงสินค้าหรือบริการ รวมไปถึงการโฆษณา การจัดอันดับรายการสินค้าในการแนะนำที่โปร่งใส มีมาตรฐาน ฯลฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .… มีความครบถ้วน ครอบคลุม สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ซ้ำซ้อนหรือเป็นภาระให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ETDA จึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวทางออนไลน์ ผ่านระบบ Microsoft Teams ครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สำหรับกลุ่ม Policy Maker รวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการกำกับ ETDA (บอร์ด ETDA) คธอ. คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเสนอแนะแนวทางต่างๆ รวมกว่า 140  คน

ในครั้งที่ 2 นี้ ETDA เตรียมเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายฯ ในกลุ่มทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ค้า/ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม ผู้ใช้บริการ ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ในวันที่ 15 ก.ค. 2564 นี้ ทางออนไลน์เช่นเดิม โดยทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ETDA จะทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปพิจารณาประกอบการปรับปรุงร่างกฎหมายฯ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนเข้าสู่กระบวนการในลำดับถัดไป

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย ยังขอเชิญ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ร่วมรับฟังและให้ความเห็นต่อแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการแจ้งและการควบคุมดูแล 

ลงทะเบียนเข้าร่วมได้ที่ https://bit.ly/2SFLGC8 ภายใน 13 กรกฎาคม 2564

_Pain-Point-online-copy-53.jpg

อัปเดตหลังการประชุมวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา

ขอบคุณสำหรับคำถาม ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ที่ทำให้ได้รับข้อมูล ข้อคิด และความเห็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งจะได้นำไปประมวลผลและรายงานตามขั้นตอน คือ วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม นี้ จะนำเสนอเข้าสู่คณะอนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ คธอ. และในต้นเดือนสิงหาคม จะนำสิ่งที่คณะอนุฯ กฎหมาย เห็นชอบแล้วเข้าสู่ คธอ.

ทุกท่านสามารถส่งข้อคิดเห็นเพิ่มเติมมาได้ที่ [email protected] ภายในวันที่ 16 กรกฎาคม เพื่อรวบรวมเข้าสู่การประชุมวันที่ 19 อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นที่ส่งมาหลังจากวันที่ 16 ETDA จะได้นำเสนออย่างไม่เป็นทางการกับคณะอนุฯ กฎหมาย เพื่อนำมาประมวลผลสรุปอีกครั้งในการประชุม คธอ.

และจะนำเสนอความก้าวหน้าเป็นระยะ ๆ ผ่านทุกช่องทางของ ETDA ว่าขั้นตอนการทำกฎหมายเป็นอย่างไรแล้ว

ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า "หวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าสิ่งที่ ETDA ริเริ่ม จะเป็นประโยชน์ในการทำงาน และเรามีความประสงค์จริง ๆ ที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของแพลตฟอร์ม ในขณะที่ไม่ทำให้เกิดภาระมากจนเกินไป มาตรา 16 เป็นมาตราที่สำคัญ ที่หลายท่านให้ความเห็นทั้งในแง่ของภาระหน้าที่ ที่ดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มเข้ามาให้ตัวแพลตฟอร์ม หรือว่าจะเป็นการทับซ้อนของตัวกรอบกฎหมาย ซึ่ง 2 ประเด็นหลักนี้ ETDA รับฟังและจะนำตรงนี้ไปหารือ ประกอบกับความเห็นที่เราหารือกับหน่วยงานกำกับดูแล เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม แล้ว ในรายละเอียดของการประชุมของคณะอนุฯ กฎหมายต่อไป

ชมคลิปที่ https://www.facebook.com/ETDA.Thailand/videos/313995440469075

สำหรับเวที ช่วงบ่าย ท่านที่ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม สามารถติดต่อเพื่อขอรับสไลด์ ร่วมตอบแบบสำรวจ และให้ข้อคิดเห็นได้ที่อีเมล [email protected] ภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564

ร่วมผลักดัน วางกรอบการส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลที่มีมาตรฐาน พร้อมทั้งคุ้มครองดูแลผู้บริโภคออนไลน์