TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

ข่าวประชาสัมพันธ์

ETDA เผยผลวิเคราะห์องค์ประกอบตัวชี้วัดระดับสากล

Foresight Documents
  • 01 ก.ย. 64
  • 2080

ETDA เผยผลวิเคราะห์องค์ประกอบตัวชี้วัดระดับสากล

คุณรู้หรือไม่ ปัจจุบันธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทกับคนไทยมากน้อยแค่ไหน คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตคิดเป็นกี่ชั่วโมงต่อวัน หรือมูลค่าอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตขึ้น คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี
 
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงานที่ทั้งดูแลและส่งเสริมให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโต ได้มีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลสถิติข้างต้น และอีกหลายสถิติที่สำคัญในด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

Event_face.jpg

ชี้ภาพรวม โดดเด่นด้านเศรษฐกิจ-โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล-มาตรฐาน ส่วนด้านกำลังคนดิจิทัล-ส่งเสริมภาคธุรกิจ ไทยต้องเร่งพัฒนา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้เผยผลการศึกษา “โครงการวิเคราะห์องค์ประกอบตัวชี้วัดระดับสากล เพื่อสะท้อนสถานภาพและแนวทางการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย” พบ ภาพรวมไทย ทำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะ เศรษฐกิจมหภาค โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มาตรฐาน-กฎระเบียบและบริการดิจิทัล แต่ประเด็นที่ยังต้องเร่งพัฒนาเพิ่ม คือ การพัฒนากำลังคนดิจิทัล การส่งเสริมภาคธุรกิจ และการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีและข้อมูล ย้ำตัวชี้วัดที่ ETDA จัดทำขึ้น คือ ฐานข้อมูลที่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปต่อยอดเพื่อร่วมกำหนดแนวทางในการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้ทัดเทียมสากล

ชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ สายงานยุทธศาสตร์ ETDA กล่าวว่า ETDA มีภารกิจ คือ ดูแลและส่งเสริมให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโต เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการดำเนินงานสำคัญ เช่น การพัฒนาแนวทาง ตลอดจนกฎหมาย หรือมาตรฐานที่สำคัญและจำเป็นสำหรับธุรกิจบริการดิจิทัล เพื่อช่วยส่งเสริมความพร้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ต่าง ๆ แก่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ETDA ยังดำเนินงานในการเป็นที่ปรึกษาผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการดิจิทัลไทยและพัฒนาระบบสารสนเทศ การเตรียมแนวทางต่าง ๆ เพื่อรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสะดวกและเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังเล็งเห็นว่าการดำเนินงานด้านการวางแผนหรือการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในแต่ละภาคส่วน จำเป็นที่จะต้องอาศัยข้อมูลที่สำคัญเข้ามาสนับสนุน ที่ผ่านมาจึงได้มีการดำเนินงานด้านการสำรวจ จัดเก็บข้อมูลที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น การสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (Thailand Internet User Behavior หรือ IUB) การสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย (Value of e-Commerce Survey in Thailand) และการสำรวจประเด็น  Mini Hot Issue ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้มองภาพอนาคตของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีความชัดเจนมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลสถิติ ตัวชี้วัด ตลอดจนผลการวิจัยเชิงนโยบายและประเด็นที่สำคัญ

ดังนั้น ETDA จึงดำเนิน “โครงการวิเคราะห์องค์ประกอบตัวชี้วัดระดับสากล เพื่อสะท้อนสถานภาพและแนวทางการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย” เพื่อศึกษาจัดเก็บและติดตามข้อมูลสถิติ ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในระดับสากล รวมถึงวิเคราะห์ พัฒนาตัวชี้วัด องค์ประกอบต่าง ๆ ที่สามารถสะท้อนการพัฒนาของประเทศในด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่ทุกภาคส่วนจะนำไปประกอบการพิจารณากำหนดประเด็นในเชิงนโยบาย ทิศทางการดำเนินงานหรือแผนยุทธศาสตร์ ตลอดจนมาตรการในประเด็นที่มีความเชื่อมโยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ETDA-Index_Pub-Con-Presentation-019.jpg

จากการศึกษาวิเคราะห์ภายใต้โครงการฯ พบข้อมูลสำคัญในช่วงที่ผ่านมา คือ จากปี 2563 ประเทศไทยมีอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ โดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) อยู่ที่อันดับ 39 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2562 จากการวิเคราะห์ข้อมูลหากประเทศไทยต้องการขยับอันดับให้ดีเพิ่มมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาอีกหลายด้าน เช่น การฝึกอบรม การศึกษา ทัศนคติการปรับตัว และความคล่องตัวทางธุรกิจ

ETDA-Index_Pub-Con-Presentation-015.jpg

ขณะที่ ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business Ranking) โดยธนาคารโลก (World Bank) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้น 6 อันดับจากปีก่อนหน้า และเมื่อดูในแต่ละด้าน พบว่า เกือบทุกด้านโดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้าง มีอันดับดีขึ้น ส่วนที่จะต้องพัฒนาเพิ่มเพราะมีอันดับลดลงคือ ด้านการขอสินเชื่อ การบังคับใช้ข้อตกลง

ETDA-Index_Pub-Con-Presentation-031.jpg

สำหรับดัชนีความพร้อมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C E-Commerce Index) ซึ่ง UNCTAD (United Nations Conference on Trade and Development) จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 42 ของจาก 152 ประเทศ โดยขยับขึ้นมา 6 อันดับจากปีก่อนหน้า คาดว่า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตและคะแนนความน่าเชื่อถือของบริการไปรษณีย์

ETDA-Index_Pub-Con-Presentation-035.jpg

ส่วนดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Development Index) ที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ไทยดีขึ้นอย่างมาก อยู่อันดับ 57 จาก 193 ประเทศทั่วโลก ส่วนหนึ่งอาจเพราะภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการให้บริการทางออนไลน์มากขึ้น และเมื่อพิจารณาในภาพรวมตัวชี้วัดระดับสากลต่าง ๆ ของไทย

ETDA-Index_Pub-Con-Presentation-037.jpg

สรุปได้ว่า ประเด็นที่ไทยทำได้ดี ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ด้านมาตรฐาน กฎระเบียบและบริการดิจิทัล ส่วนประเด็นที่ควรต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ได้แก่ การพัฒนากำลังคนดิจิทัล การส่งเสริมภาคธุรกิจ รวมถึงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีและข้อมูล 

ETDA-Index_Pub-Con-Presentation-038.jpg

นอกจากนี้ ETDA ยังวิเคราะห์องค์ประกอบตัวชี้วัดระดับสากล ร่วมกับตัวชี้วัดเป้าหมายจากแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุป “ตัวชี้วัดด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย” หรือ Strategic Indicators ที่ควรให้ความสำคัญ ออกมาทั้งหมด 34 ตัวชี้วัด โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ตามมาตรา 43/1 แห่ง พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ได้แก่

1. ด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล
2. ด้านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์
3 .ด้านมาตรฐานและกฎเกณฑ์
4. ด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล และ
5. ด้านการวิจัยและพัฒนา

ETDA-Index_Pub-Con-Presentation-049.jpg

ตัวชี้วัดเหล่านี้จะเป็นปัจจัยในการวัดที่ครอบคลุมตัวชี้วัดสากลที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ เช่น อันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ (World Digital Competitiveness Ranking) อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) อันดับดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index) รวมถึงตัวชี้วัดและสถิติที่สะท้อนภาพและแนวทางการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ที่ภาครัฐ เอกชน  เป็นผู้รวบรวมและจัดเก็บไว้ เช่น จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศ ปริมาณการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สัดส่วนผู้ใช้งานบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ สัดส่วนผู้มีงานทำในสาขาความเชี่ยวชาญด้าน ICT จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา

อีกทั้ง ยังพบว่า ข้อมูลตัวชี้วัดที่ยังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำหรือจัดเก็บในปัจจุบันและ ETDA ได้กำหนดให้เป็นการดำเนินงานที่จะต้องจัดทำหรือจัดเก็บเพิ่ม เพื่อให้ประเทศได้มีข้อมูลในด้านดังกล่าวที่ชัดเจน และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ก็คือ ข้อมูลระดับความเชื่อมั่นของประชาชนในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลการพัฒนาบริการที่เชื่อถือได้ (Trust Service)

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่สนใจทั้งในด้านการนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินงาน (User) ตลอดจนหากต้องการเข้าร่วมในการสนับสนุนข้อมูล หรือสนใจในการมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง (Partner) สามารถติดตามรายละเอียดการดำเนินงานและผลการสำรวจต่าง ๆ ได้ทั้งที่เว็บไซต์ ETDA หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของ ETDA

ETDA-Index_Pub-Con-Presentation-101.jpg

“การขับเคลื่อนประเทศอาจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยการดำเนินงานของ ETDA แต่เพียงหน่วยงานเดียว ซึ่ง ETDA มีความยินดีอย่างยิ่งในการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ตัวชี้วัดด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำขึ้น ETDA คาดหวังให้เป็นข้อมูลสำคัญของประเทศและเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถนำไปกำหนดแนวทางร่วมกัน ในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตข้างหน้า สู่การยกระดับชีวิตคนไทยด้วยดิจิทัลไปด้วยกัน” ชาติชาย กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลตัวชี้วัดกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศให้เท่าทันและทัดเทียมกับนานาประเทศ

File Download

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)