จับตา! การจัดการโทรคมนาคมไทย ตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลหรือไม่?
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center ร่วมกับ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand - JFCCT) จัดเวทีเสวนา "การบริหารจัดการโทรคมนาคมเพื่อรองรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล" (Hard and Soft Infrastructure for an Efficient and Effective Telecoms Sector: the Broadband Services Enabler for Digital Economy) เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง รวมถึงค้นหาหลักการและแนวทางที่ดีในด้าน Hard Infrastructure ของประเทศไทย เพื่อรองรับยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังจะเกิดขึ้น
นายโรเบิร์ต ฟอกซ์ ประธานกลุ่มไอซีที หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะสามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ต้องเกิดจากการพัฒนาซอฟต์แวร์และโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลนั้นควรจะมี Regulator องค์กรเดียวซึ่งจำเป็นต้องมีความอิสระอย่างชัดเจน แต่บทเรียนที่ผ่านมาคือ การบริหารจัดการคลื่นความถี่หรือทรัพยากร โดยเฉพาะระหว่างช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาต นับเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศไทยซึ่งต้องทำอย่างเหมาะสม และการให้บริการสาธารณะต้องเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมการแข่งขัน ดังนั้นหากไม่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพ การแข่งขันย่อมไม่เกิด ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าไทยมีปัญหาทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่ เรื่องการนำคลื่นความถี่ไปใช้งาน ตลอดจนกระทั่งการกำกับดูแล สำหรับส่วนแบ่งการตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยนั้น ณ สิ้นปี 2557 พบว่า AIS ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 47% DTAC 29% ตามด้วย TRUE, CAT และ TOT
นอกจากนี้นายโรเบิร์ต ฟอกซ์ ยังเสริมว่า ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล บทบาทของรัฐคือต้องเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน ไม่ใช่ผู้ควบคุม รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ต้องเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมด้วย
ด้านนายฤทธิเดช เหมาะประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค (DTAC) ระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. … ให้อำนาจคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมากเกินไป ซึ่งอาจกำกับนโยบายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทั้งที่ในความเป็นจริง กสทช. ควรมีความเป็นอิสระ นอกจากนี้ยังขอให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมให้ตลาดเกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาค เปิดเสรี และเป็นธรรม เพราะถ้าเศรษฐกิจดิจิทัลต้องขับเคลื่อนโดยเอกชน ภาครัฐมีหน้าที่เพียงกำหนดทิศทางโดยการสร้างกติกาที่เอื้อให้ตลาดแข่งขันกันอย่างเสรีเท่านั้น
นอกจากนี้ในวงเสวนายังมีการเปิดประเด็นเรื่องการเติบโตของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศมาเลเซียที่รัฐบาลของมาเลเซียได้วางเป้าหมายอย่างชัดเจนให้ Digital Economy มีสัดส่วนอย่างน้อย 17% ของ GDP ภายในปี 2020 เพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกมิติของสังคม เชื่อมโยงมาเลเซียกับสังคมโลกได้อย่างทันท่วงที อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรมาเลเซีย
นายโรเบิร์ต ฟอกซ์ มองว่า จุดแข็งของประเทศมาเลเซียในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล คือการสนับสนุนของภาครัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ด้านทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซียเองยังมีศักยภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพป้อนสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ความเชี่ยวชาญพิเศษในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการผู้ควบคุมกฎหมายเกี่ยวกับโทรคมนาคมสื่อสาร ซึ่งส่งผลให้สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการที่ทำให้วาระแห่งชาติของประเทศในด้านการพัฒนามีความสมบูรณ์
การบริหารจัดการด้านโทรคมนาคมของประเทศมาเลเซียอาจกล่าวได้ว่า เป็นการเติบโตอันเป็นก้าวย่างสำคัญที่เกิดจากความต้องการด้านการสื่อสารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ทำให้เกิดการเริ่มต้นของการเปิดเสรีด้านโทรคมนาคม การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เพิ่มขึ้น (GDP) และการพอใจต่ออำนาจการใช้จ่ายที่มากขึ้นของประชากร นอกจากนั้น การเติบโตครั้งนี้ยังมาจากการดำเนินการตลาดที่เข้มข้น รวมทั้งการคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ดำเนินการโดยบริษัทลูกในตลาดสำคัญ เช่น อินโดนีเซีย บังกลาเทศ ศรีลังกา และกัมพูชา อีกด้วย
ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยของเวที ICT Law Center Open Forum ครั้งต่อไปในหัวข้อ “Online Dispute Resolution: Principles and Things to know for Digital Entrepreneurs การระงับข้อพิพาททางออนไลน์: หลักการ แนวคิด และสิ่งควรรู้สำหรับผู้ประกอบการในยุค Digital” วันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2558 ได้ทาง http://www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th